วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิสัยทัศน์ความมีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของอาเซียนที่จะเริ่มในปี 2558 แม้หลักใหญ่จะเป็นเรื่องของ AEC...

วิสัยทัศน์ความมีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของอาเซียนที่จะเริ่มในปี 2558 แม้หลักใหญ่จะเป็นเรื่องของ AEC คือมิติของเศรษฐกิจ แต่ประชาคมอาเซียนนั้นยังมีข้อเชื่อมโยงอยู่อีกหลายๆมิติ ทั้งสังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ ซึ่งมิติเหล่านี้แม้จะไม่ใช่หลักใหญ่ใจความ แต่ถือว่ามีความสำคัญที่จะร้อยเรียงความเป็นหนึ่งเดียวเข้าด้วยกัน แล้วกลายเป็นพลังในการสร้างสรรค์ของสมาชิกภาคีอาเซียน รวมทั้งเป้าหมายในด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน จึงมีคำถามว่า ในการที่จะแสดงบทบาทเป็นผู้นำอเซียนนั้นคงไม่ได้หมายถึงเพียงมิติของเศรษฐกิจเป็นด้านหลักอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยค่อนข้างมีศักยภาพ แต่นั่นคงไม่เพียงพอถ้าเราจะช่วงชิงในสถานะของผู้นำอาเซียน สิ่งสำคัญที่สุดที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาดเห็นจะได้แก่ “วิธีคิดและความคิดของประเทศผู้นำนั่นเอง”?

ตรงนี้หมายถึงว่าถ้าประเทศไทยจะให้ประเทศในภาคีสมาชิกยอมรับในบทบาทของตัวเอง ก็มีความจำเป็นมากที่จะต้องแสดงความคิดนำเสนอทั้งร้อยรัดและประสาน เพื่อหาจุดร่วมกับมวลสมาชิกทั้งหลาย แล้วสื่อออกมาถึงความคิดที่จะให้เขายอมรับเราในฐานะของความเป็นผู้นำอาเซียน แต่ความคิดที่ว่านี้คืออะไร และต้องอาศัยอะไรบ้าง?

จุดร่วมที่ต้องแสวงหาระหว่างสมาชิกอาเซียนน่าจะต้องแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆในมิติดังต่อไปนี้

1.จุดร่วมในมิติประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทราบว่าคงจะมีการสัมมนาใหญ่ในราวไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทาลัยเซาท์อีสต์เอเชียร่วมกับสถาบันสุวรรณภูมิอภิวัฒน์ ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ อย่างน้อยที่สุดมวลสมาชิกอาเซียนอาจจะหาข้อสรุปบางอย่างได้ในมิติประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อที่จะโยงใยและต่อยอดไปสู่การขยายผลในกิจกรรมอื่นๆต่อไป

2.จุดร่วมในมิติของศิลปวัฒนธรรมและประเพณี มิตินี้ก็เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ซึ่งแต่ละชาติคงจำเป็นต้องค้นคว้าศึกษาทางด้านวิชาการ แล้วมาสรุปร่วมกันอีกครั้ง เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับเอกลักษณ์และจุดร่วมจริงๆที่จะนำไปสู่กิจกรรมในภายภาคหน้า

แต่มีคำถามว่า การที่จะฝ่าฟันให้เกิดบรรยากาศการหาข้อสรุปในจุดร่วมเหล่านี้อย่างใกล้เคียงที่สุด และเป็นประโยชน์ที่สุด อันจะเกิดความสมัครสมานสามัคคีนั้น จำเป็นต้องอาศัยอะไร? แน่นอนที่การดำเนินไปภายใต้อัตลักษณ์ของความเป็นอาเซียนที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้คงต้องอาศัยประเทศผู้นำ ซึ่งในที่นี้ประเทศไทยก็น่าจะอยู่ในฐานะได้เปรียบที่จะถูกยอมรับให้มีบทบาทในเรื่องความคิดเหล่านี้

แต่เมื่อย้อนเข้าไปภายในประเทศไทย ถ้าเราจะเป็นผู้ตั้งต้นในฐานะผู้นำความคิดในมิติต่างๆเหล่านี้แล้ว คงเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากบรรยากาศและสภาพต่างๆในประเทศของตัวเองไม่มีความเป็นอิสระและไม่มีเสรีภาพที่แท้จริง?

กล่าวสั้นๆก็คือ สังคมไทยจะต้องปลดปล่อยตัวเองให้มีความเป็นเสรีอย่างเต็มที่เสียก่อน วิสัยทัศน์เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มีความเป็นเสรีนิยมอย่างเต็มที่ในเบื้องต้น บรรดาความคิดความอ่านในมิติต่างๆเหล่านี้จะตกผลึกและถูกยอมรับในกลุ่มภาคีสมาชิกได้อย่างไรกัน? ความเป็นเสรีนิยมกับความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้เลย บรรยากาศทางการเมืองและความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงจำเป็นต้องนำมาขับเคลื่อนสังคมอย่างมีจุดยืน มีกฎเกณฑ์และกติกาที่แท้จริง สภาวะวิสัยเหล่านี้เท่านั้นจึงจะให้คำตอบได้ว่าสังคมไทยมีทิศทางที่บ่ายหน้าไปสู่มิติของความเป็นเสรีนิยมได้อย่างเสรีเพียงไร? ถ้าเราไปตรงจุดนี้ไม่ได้โอกาสที่จะเป็นผู้นำทางความคิดในอาเซียนก็คงเป็นไปไม่ได้เหมือนกัน! นี่คือการบ้านและงานหนักไม่น้อยเลย

นี่คือคำตอบที่ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในอาเซียนได้อย่างไร? การปลดปล่อยประเทศของตัวเองให้เป็นเสรีนิยมอย่างเต็มที่ กำจัดจุดอ่อนที่จะเป็นอุปสรรคขวางกั้นเรื่องเหล่านี้ มีเพียงหนทางนี้เท่านั้นที่เราจะแทรกตัวเองขึ้นเป็นผู้นำของอาเซียนต่อไปในอนาคต นี่คือจุดยืนและวิสัยทัศน์ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยถ้าเราจะยกระดับประเทศของตัวเองต่อไปข้างหน้าท่ามกลางชาติต่างๆที่กำลังเติบโตในศักยภาพแต่ละมิติ ตรงนี้เป็นคำตอบที่รัฐบาลต้องจริงจัง ทั้งรัฐบาลชุดนี้และชุดต่อๆไป เพราะมิฉะนั้นแล้วก็คงจะเป็นความเพ้อฝันที่คิดเอาว่าตัวเองจะเป็นผู้นำในอาเซียนให้ได้

เรื่องนี้เป็นฝันไกลที่ต้องเดินไปให้ถึง และสามารถเดินถึงได้ถ้าหากคิดจะเดินจริงจัง และที่สำคัญทุกคนต้องเดินไปด้วยกัน

**********************************************************************

สมัครรับ “ข่าวสั้น SMS โลกวันนี้รายวัน” เดือนละ 30 บาท (ไม่รวม VAT7%)
สมัครวันนี้ทดลองใช้งานฟรี 30 วัน

วิธีสมัคร (มือถือทุกระบบ AIS, DTAC, TRUE) เพียงกด *48998981001 โทรออก

หมายเหตุ : สอบถามรายละเอียดที่ 0-2422-8155, 0-2422-8158-59



www.dailyworldtoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม