วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พ.ร.บ.ปองร้ายประเทศไทย

แม้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติ 272 ต่อ 2 ให้เลื่อนญัตติร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ ... จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิและคณะ 1 ฉบับ และของ ส.ส.กลุ่มเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย 1 ฉบับ นำโดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส่วนอีก 2 ฉบับ เป็นของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ และของนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ เข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่สุดท้ายก็มีอันเป็นต้องเลื่อนออกไป เป็นวันที่ 6-7 มิถุนายน เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ปิดถนนสกัดกั้นมิให้ ส.ส.รัฐบาล เดินทางเข้าร่วมประชุมสภาในวันที่ 1 มิถุนายน เป็นผลสำเร็จ

สำหรับประเด็นข้อโต้แย้งที่สังคมควรมีส่วนร่วมพิจารณาไตร่ตรองก่อนลงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย กับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองฯ ได้แก่ 1) เป็นร่างกฎหมายที่มุ่งหวังลบล้างความผิดของบุคคลต่าง ๆ ในอดีต ทั้งที่บางคดีมีคำพิพากษาของศาลฎีกาจนถึงที่สุดแล้ว หรือไม่ 2) เหตุใดร่างกฎหมายจึงมีสภาพบังคับที่ไร้ขอบเขต ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนในเรื่องการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง นอกจากนี้การบัญญัติให้ผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิรูป มีความไม่ชัดเจน กินความกว้าง ครอบคลุมกระทบถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไม่มีข้อจำกัด

3) เนื้อหาสาระก้าวล่วงถึงการล้มล้างคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบการถ่วงดุลตรวจสอบของศาล เพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง อย่างไร 4) ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหลายคนได้รับประโยชน์ จริงหรือไม่ 5) พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา อย่างไร และ 6) แม้จะมีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภากับประธานกรรมาธิการสามัญ 35 คณะ ลงมติว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่เป็น พ.ร.บ.การเงิน ซึ่งข้อเท็จจริงและกระบวนการพิจารณา กระทำถูกต้องชอบธรรมหรือไม่

ถึงวันนี้ ทุกคนทุกฝ่ายได้เห็นประจักษ์ชัดว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เพียงแค่เริ่มต้นก็เป็นชนวนสร้างความแตกแยกและความขัดแย้งการเมือง “2 ขั้ว” ในสังคมไทยอีกครั้ง เราเห็นว่า ด้วยเงื่อนไขของเวลา ความเหมาะสม และเพื่อสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง สภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่า ส.ส.ฝ่ายค้านหรือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ควรเปิดกว้างให้สังคมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมพิจารณา ทำความเข้าใจประเด็นข้อโต้แย้งต่าง ๆ ให้ได้ข้อยุติเบื้องต้น ไม่เช่นนั้นกฎหมายฉบับนี้ต้องเป็น ร่าง พ.ร.บ.ปองร้ายประเทศไทย.



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม