การประชุม เศรษฐกิจโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือ World Economic Forum on East Asia 2012 งานใหญ่ระดับโลกที่ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยเป็นเจ้าภาพจัดตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม และจะปิดการประชุมในวันนี้ ต้องบอกว่า การประชาสัมพันธ์อ่อนมาก จนคนไทยและสื่อไทยแทบไม่รู้ข้อมูลอะไรมากนัก นอกจากรู้ว่ามีการประชุม และมีผู้นำบางชาติเข้าร่วมการประชุมวันแรกยังถูกข่าว กฎหมายปรองดอง และ การชุมนุมต่อต้านของกลุ่มพันธมิตร กลบความสำคัญไปจนหมด
นอกจากนี้ยังถูก นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านพม่า เดินทางมา “แย่งซีน” ไปหน้าตาเฉย สื่อใหญ่ทั่วโลกต่างส่งนักข่าวมือดีบินมาทำข่าว นางซูจี ซึ่งเดินทางออกนอกประเทศพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี จนแทบจะลืมเรื่องการประชุมในไทยไปเลย
เมืองไทยเลยกลายเป็น เวทีหาเสียงทางการเมือง ของ นางซูจี ไปโดยปริยาย เพราะจุดแรกที่ นางซูจี เดินทางไปเยี่ยมเมื่อมาถึงไทยก็คือ ตลาดมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีแรงงานพม่ากว่า 2-3 แสนคน แทบจะกลายเป็น จังหวัดพม่า ไปแล้ว โดย นางซูจี ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยกับแรงงานพม่า จะนำเรื่องค่าจ้างแรงงานพม่าหารือกับรัฐบาลไทย และจะนำแรงงานพม่ากลับบ้าน ซึ่งแรงงานพม่าในไทยทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ว่ากันว่ามีไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านคน
ความจริง นางออง ซาน ซูจี ไม่ได้เป็นแขกเชิญของรัฐบาลไทย แต่เป็นแขกเชิญของฝ่าย World Economic Forum ที่เชิญเข้าร่วมประชุมแขกเชิญของรัฐบาลไทย คือ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผู้นำพม่า ซึ่งเชิญไปล่วงหน้าก่อนที่ WEF จะเชิญ นางออง ซาน ซูจี และ ผู้นำพม่า ก็ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว โดยมี ผู้นำอาเซียน 5 ชาติ ตอบรับเข้าร่วมประชุม รวมทั้ง ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ด้วย
แต่เมื่อ WEF เชิญ นางออง ซาน ซูจี มาร่วมประชุมด้วย ทำให้ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ตัดสินใจไม่มาร่วมประชุม แต่เลื่อนการเดินทางมาเยือนไทยเป็นวันที่ 4-5 มิถุนายนแทน เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญาหลายด้านระหว่างไทยกับพม่าก็ต้องชมสปิริตของ ผู้นำพม่า ที่ไม่ทำให้ประเทศไทยลำบากใจ ลองนึกดู ถ้า ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และ นางออง ซาน ซูจี มาเมืองไทยพร้อมกัน คนแรกเป็นแขกรัฐบาล มีการต้อนรับใหญ่โตสมเกียรติ คนหลังเป็นแขกของ WEF รัฐบาลไทยให้การต้อนรับแบบ ส.ส.พม่าธรรมดา ท่ามกลางสื่อทั่วโลกที่มาทำข่าว เมืองไทยคงถูกสื่อต่างชาติวิจารณ์แหลกแน่นอน
หัวข้อการประชุม WEF ในครั้งนี้คือ Shaping the Region’s Future through Connectivity หรือ “กำหนดอนาคตของภูมิภาคด้วยการเชื่อมโยงทุกด้าน”
ฟังดูเผินๆก็น่าจะดี เพราะ อาเซียน 10 ชาติ กำลังจะเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียวคือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ วิกฤติการเงินยุโรป ที่เกิดขึ้น ทำให้ผมเห็นด้วยกับ ประธานาธิบดี สุสิโล บัมบัง ยุดโฮโยโน ผู้นำอินโดนีเซีย ที่ออกมาเตือนว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ควรจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้าด้วยกันมากเกินไป เดี๋ยวจะเป็นอย่างยุโรปประเทศเล็กๆอย่าง กรีซ ที่มีประชากรแค่ 11 ล้านคนพัง ก็ยังพาเอา เศรษฐกิจยุโรปอีก 16 ประเทศ ที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคนพังไปด้วย
การรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงไม่ควรมองแต่ “ผลดี” ด้านเดียว “ผลเสีย” ก็มีไม่น้อย ถ้าเศรษฐกิจการเงินผูกพันมากเกินไปเหมือน “ยูโรโซน” เพื่อนเจ๊งก็ต้องเจ๊งด้วย ผมว่าอยู่กันอย่างเพื่อนที่เอื้ออาทรกันในทุกด้าน จะดีกว่ารวมกันทุกเรื่องเยอะเลย รัฐบาลไทย น่าจะนำไปตรองดู.
วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555
ซูจี–แย่งซีนประเทศไทยรวมอาเซียนเริ่มเสี่ยง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
นายเปรมชัย ใจกว้าง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิคส์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กสท ได้พัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ &quo...
-
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เปิดเผยในการเสวนาประชาชนสัญจรครั้งที่ 11 "ขุมทรัพย์น้ำมันไท...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น