วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พบช่องว่างเอื้อนายหน้าหากินกับแรงงานพม่า

เปิดปมปัญหากระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ พบช่องว่างเอื้อนายหน้าหากินกับแรงงานพม่า

ถึงแม้ข่าวการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของออง ซานซูจี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศพม่าจะเรียกเสียงฮือฮาให้กับสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจถึงความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในประเทศพม่าได้ไม่น้อย แต่กระแสความฮือฮานั้นก็จะค่อยๆ จางหายไปเพียงชั่วข้ามคืนเมื่อการมาเยือนของอองซาน ซูจี เสร็จสิ้นลง ทิ้งไว้เพียงความจริงที่อยู่เบื้องหลังกระแสความฮือฮาเหล่านั้นคือพี่น้องร่วมชาติชาวพม่าของออง ซาน ซูจี ที่ดิ้นรนหลีกหนีความทุกข์ยากลำบากในประเทศของตนเพื่อมาแสวงหาหนทางที่ดีกว่าให้กับตนเองและครอบครัวในประเทศไทย

จากสถิติของกระทรวงแรงงานระบุอย่างชัดเจน ว่ามีจำนวนของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากถึงหนึ่งล้านสามแสนกว่าคน โดยเป็นแรงงานพม่ามากที่สุด ร้อยละ 82.1 รองลงมาคือ กัมพูชา และลาว ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 9.5 และ ร้อยละ 8.4 ตามลำดับนอกจากนี้ยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ลักลอบเข้าเมืองมาอย่างผิดกฏหมาย จนทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งจากนายหน้าและจากนายจ้าง หลายฝ่ายจึงระดมทางออกเพื่อช่วยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นโยบายผ่อนผันให้กระทรวงแรงงานขยายเวลาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ทั้งลาว กัมพูชา และพม่า ออกไปจนวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555 นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รัฐบาลไทยใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติโดยการนำแรงงานที่อยู่ใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดินอย่างถูกกฏหมายซึ่งหากนับระยะเวลาตามนโยบายของรัฐบาลไทยก็เหลืออีกไม่กี่สิบวันที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะต้องพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ : Migrant Working Group (MWG)จึงได้ร่วมมือกันลงสำรวจกระบวนการพิสูจน์สัญชาติของแรงงานข้ามชาติชาวพม่าว่ามีความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในด้านใดบ้าง โดยศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดสมุทรปราการเป็นสถานที่แห่งแรกที่เครือข่ายได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจ ซึ่งจากการลงสำรวจในครั้งนี้นั้นพบว่า ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าจังหวัดสมุทรปราการนั้นมีสถานที่ที่กว้างขวางหากแต่จำนวนของแรงงานที่เข้ามาใช้บริการในสถานที่แห่งนี้ยังมีจำนวนน้อย และกระบวนการในการออกเอกสารต่างๆและการประสานเพื่อให้ข้อมูลกับแรงงานนั้นยังเป็นไปอย่างล่าช้าอยู่

ทศพล สุมานนท์ หัวหน้าศูนย์กรมการจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการระบุว่าศูนย์พิสูจน์สัญชาติแห่งนี้สามารถรองรับจำนวนแรงงานได้วันละ 800 คน โดยมีเจ้าหน้าที่รองรับการทำงานด้านเอกสารทั้งหมด 8 -9 คน ซึ่งศูนย์มีหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสาร ทร. 38 หรือใบอนุญาติทำงานใบสีชมพู และหนังสือขออนุญาติจากกระทรววมหาดไทยและเอกสารประกอบอื่นๆ ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ เมื่อเอกสารทุกอย่างครบถ้วนเราก็จะจัดส่งให้กับสถานฑูตพม่าที่มาตั้งศูนย์อำนวยการอยู่ในตึกนี้ดำเนินการออกวีซ่าให้กับแรงงานเป็นขั้นตอนต่อไป

ขณะที่ตัวแทนเจ้าหน้าที่จากสถานฑูตพม่าซึ่งมาประจำการในการออกวีซ่าให้กับแรงงานในประเทศไทยนั้น เปิดเผยถึงกระบวนการทำงานของศูนย์ให้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ: Migrant Working Group (MWG)ฟังว่า คณะทำงานที่มาจากประเทศพม่านั้นส่วนใหญ่มาจากบริษัทเอกชนที่ทำสัมปทานในการดำเนินการได้กับรัฐบาลพม่า ซึ่งพวกตนนั้นเป็นตัวแทนของบริษัท RMC GROUP ที่ประมูลงานนี้ได้โดยในแต่ละศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่ไทยและพม่าประสานความร่วมมือนั้นก็จะมีบริษัทเอกชนในที่อื่นๆประมูลไปไม่ซ้ำกันซึ่งปัญหาในการทำงานของฝั่งพม่าที่มาประจำการในประเทศไทยนั้นคือกระบวนการในการส่งต่อและตรวจเอกสารที่เป็นไปอย่างล่าช้าเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ : Migrant WorkingGroup (MWG) ยังได้ลงสำรวจการพิสูจน์สัญชาติในศูนย์พิสูจน์สัญชาติเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เพิ่มเติมด้วยโดยแรงงานพม่าจำนวนหนึ่งได้สะท้อนให้เครือข่าย (MWG) ฟังว่าสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับพวกเราคือกระบวนการในการประชาสัมพันธ์และการให้ข้อมูลทั้งจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่ารวมถึงในศูนย์พิสูจน์สัญชาตแต่ละแห่งเองก็ยังมีล่ามที่ให้ข้อมูลกับแรงงานไม่เพียงพอโดยเฉพาะในศูนย์พิสูจน์สัญชาติเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เครือข่าย(MWG) เองก็ยังพบว่าสถานที่คับแคบไม่เพียงพอต่อจำนวนแรงงานเองที่มารอพิสูจน์สัญชาติเป็นจำนวนมากซึ่งจากปัญหาที่มีอย่างมากมายหลากหลายนั้นทำให้แรงงานจำนวนมากต้องหันไปพึ่งนายหน้าให้ดำเนินการในการขอพิสูจน์สัญชาติให้

นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ : Migrant Working Group (MWG) เปิดเผยภายหลังจากลงสำรวจศูนย์พิสูจน์สัญชาติทั้งสองแห่งแล้วเสร็จว่า "จากการที่ได้ลงสำรวจการทำงานของศูนย์พิสูจน์สัญชาติทั้งสองแห่งในวันนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบการประสานงานในเรื่องข้อมูลของรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าเองยังมีปัญหาอยู่มากจึงทำให้เกิดปัญหาว่าศูนย์ที่มีพื้นที่น้อยแรงงานเดินทางมาขอพิสูจน์สัญชาติมากส่วนศูนย์ที่มีพื้นที่ในการให้บริการมากกลับมีแรงงานไปขอใช้บริการน้อยโดยเฉพาะในส่วนของประเทศพม่าเองที่เปิดให้บริษัทเอกชนมารับเป็นผู้ดำเนินการ ยิ่งจะทำให้การตรวจสอบข้อมูลในเอกสารนั้นอาจจะมีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดและเป็นไปอย่างล่าช้าและทำให้เกิดกระบวนการหาผลประโยชน์กับแรงาน โดยแรงงานส่วนใหญ่ในวันนี้ให้ข้อมูลตรงกันว่าจะต้องใช้บริการจากนายหน้าที่คิดค่าใช้จ่าย 5,000 - 7,000 บาทต่อคนทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากถึงขนาดนั้นแรงงานบางคนทำงานอยู่ภาคใต้ยังต้องขึ้นมาพิสูจน์สัญชาติไกลถึงกรุงเทพ และหากกระบวนการยังเป็นแบบนี้ต่อไปตนเชื่อว่าไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติแรงงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24มิ.ย.ที่จะถึงนี้ได้"ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ : MigrantWorking Group (MWG)ระบุ

นายอดิศรยังได้แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าว่าควรจะมีการจัดโซนพื้นที่ว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในจังหวัดใด ควรจะเข้ามารับการพิสูจน์สัญชาติที่ศูนย์ใดเพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางของแรงงานข้ามชาติและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานพร้อมกันนี้รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าควรประสานงานกันในเรื่องของการออกเอกสารที่ยังมีปัญหายุ่งยากและซับซ้อนในหลายส่วน พร้อมกันนี้ยังเสนอให้ยืดระยะเวลาในการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีกสามถึงสี่เดือนเพื่อให้การดำเนินการในการขอพิสูจน์สัญชาติขอแรงงานแล้วเสร็จได้อย่างทันท่วงที

 

 

 

 

 

 



www.posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม