เอโอซีชี้รันเวย์ยุบกระทบหนักกรณีพื้นรันเวย์ฝั่งตะวันตกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เกิดยุบตัวลงของยางมะตอยเป็นหลุมกว้าง 60 เซนติเมตร ลึก 5 เซนติเมตร เมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเครื่องบินหลายเที่ยวบินต้องเลี่ยงไปใช้สนามบินอื่นๆ ต่อมา มีการซ่อมแซมบริเวณที่เสียหายกลับมาใช้งานได้ตามปกติ เมื่อเวลา 21.00 น. ของวันเดียวกันนั้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นางมาริสา พงษ์พัฒนพันธุ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (เอโอซี) ในฐานะผู้ประสานงานสายการบินทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สายการบินไม่ได้เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า จึงได้รับผลกระทบ ต้องนำเครื่องบินไปลงที่ท่าอากาศยานอื่นรวม 11 ลำ คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จ.ระยอง และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ส่วนสิ่งที่แต่ละสายการบินได้รับผลกระทบมากที่สุดคือค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อบินลงยังท่าอากาศยานแห่งอื่น ก็ต้องจ่ายค่าขึ้นลงให้กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เช่นกัน ทั้งที่ไม่ต้องการไปลงที่ท่าอากาศยานอื่น จึงขอเรียกร้องให้ ทอท.ดูแลเรื่องดังกล่าวด้วย วอนทอท.ยกเว้นเก็บค่าแลนดิ้ง"การซ่อมแซมที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางคืนของวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการซ่อมเล็ก แต่บังเอิญตรงกับการซ่อมใหญ่รันเวย์ฝั่งตะวันออกพอดีเลยได้รับผลกระทบ และทางสายการบินไม่ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายไว้รองรับในจุดนี้ ดังนั้น ทางเอโอซีจะขอชดเชยโดยเรียกร้องอย่างจริงจังกับข้อเรียกร้องเดิมที่เคยขอมาก่อนหน้านี้ คือ ให้สายการบินจ่ายค่าขึ้นลง (แลนดิ้ง) 50% ในช่วงที่ปิดซ่อมรันเวย์ฝั่งตะวันออก ขณะเดียวกันต้องยกเว้นการเก็บค่าแลนดิ้งกับสายการบินต่างๆ ที่ต้องนำเครื่องบินไปลงที่ท่าอากาศยานแห่งอื่นแทนสุวรรณภูมิด้วย" นางมาริสากล่าวไม่มั่นใจความเชื่อมั่นต่างชาตินางมาริสากล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าอยู่ในช่วงใกล้เคียงกับเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องจนส่งผลให้ระบบเรดาร์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองใช้งานไม่ได้ ยังตอบได้ไม่เต็มที่ว่าสายการบินต่างประเทศยังมั่นใจประเทศไทย 100% หรือไม่ จึงต้องการให้ ทอท.ดูแลสายการบินอย่างจริงจังในช่วงนี้ เพราะทำให้สายการบินต่างๆ หันไปใช้ท่าอากาศยานประเทศอื่นในแถบนี้แทน ประกอบกับหลายประเทศในแถบนี้มีศักยภาพไม่แพ้กัน แต่ไทยยังถือว่ามีความพร้อมในเรื่องต่างๆ ที่จะเป็นศูนย์กลางการบิน จึงไม่ต้องการให้มีการย้ายสายการบินออกไป แต่ ทอท.ก็ต้องดูแล"ที่ผ่านมาเอโอซีให้ความร่วมมือกับ ทอท.มาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สายการบินมีต้นทุนมากขึ้น ทอท.ก็ต้องดูแลสายการบินด้วย เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจและอยู่กับประเทศไทยต่อไป"แหล่งข่าวจาก ทอท.กล่าวว่า รันเวย์ของสนามบินสุวรรณภูมิมีอายุการใช้งานมาประมาณ 6 ปี ขณะที่รันเวย์ฝั่งตะวันออกได้ทำการปิดซ่อม จึงส่งผลให้รันเวย์ฝั่งตะวันตกต้องรับน้ำหนักเครื่องบินเพิ่มมากขึ้นจึงเกิดปัญหาขึ้นเผยแรงกระแทกจนเกิดยุบตัวนายสมชัย สวัสดีผล ผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ได้ซ่อมแซมรันเวย์ที่มีปัญหาแล้วเสร็จตั้งแต่คืนวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สาเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นจุดที่เครื่องบินต้องจอดรอเพื่อเร่งเครื่องทำการบินขึ้น ทำให้รับน้ำหนักและแรงกระแทกมาก จนเกิดเป็นรอยกะเทาะขึ้น และเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ ประกอบกับช่วงนี้รันเวย์ฝั่งตะวันออกยังอยู่ระหว่างปิดซ่อม ทำให้รับน้ำหนักมากกว่าปกติ จึงเกิดการยุบตัวดังกล่าว "หลังเกิดเหตุก็ปิดรันเวย์ชั่วคราว 1 ชั่วโมง เพื่อซ่อมแซม ส่งผลให้เครื่องบินที่ไม่สามารถลงจอดได้ 11 ลำ ต้องเปลี่ยนไปลงจอดที่สนามบินดอนเมือง 3 ลำ อู่ตะเภา 7 ลำ และเชียงใหม่ อีก 1 ลำ ต่อมาในเวลาประมาณ 21.00 น.ของคืนวันเดียวกัน ก็เปิดมาใช้งานได้ปกติ" นายสมชัยกล่าวซ่อมรันเวย์ตอ.เสร็จก่อน2วันร.ท.ณรงค์ชัย ถนัดช่างแสง รองผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทอท.ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบรันเวย์ประมาณ 6 ครั้งต่อวัน และส่วนเหตุที่เกิดขึ้นเพราะใช้งานมานานทำให้เสื่อมสภาพ ขณะนี้ได้เตรียมอุปกรณ์และคนไว้พร้อม หากเกิดเหตุขึ้นอีก สามารถซ่อมให้แล้วเสร็จได้ภายใน 30 นาที ส่วนการซ่อมรันเวย์ฝั่งตะวันออกขณะนี้ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่มีปัญหาความล่าช้าจากฝนตกทำให้ปูยางไม่ได้ ที่่ผ่านมา ทอท.มีแผนปิดซ่อมรันเวย์ฝั่งตะวันออกตั้งแต่เดือนเมษายน แต่ติดจัดประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม ต้องเลื่อนซ่อมมาเป็นเดือนมิถุนายน ยืนยันว่าจะแล้วเสร็จก่อนกำหนดในวันที่ 18 กรกฎาคม เร็วขึ้นกว่าเดิม 2 วัน แต่หากจะให้การซ่อมบำรุงแล้วเสร็จทั้งหมดคงต้องรอวันที่ 2-3 สิงหาคม (การซ่อมระยะ 2) หรือเสร็จก่อนกำหนดเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 9 สิงหาคม "สทท."หนุนผุดรันเวย์จุดที่3นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า อยากให้ ทอท.เร่งสร้างรันเวย์ที่ 3 ให้เสร็จทันตามกำหนดปี 2560 เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินมากขึ้น เท่าที่ทราบหากมีรันเวย์ที่ 3 จะรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 4 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันควรวางแผนหาแนวทางขยายรันเวย์ที่ 4 ได้แล้ว เพื่อรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น"เมื่อคืนวันที่ 5 กรกฎาคม ที่มีปัญหารันเวย์จนทำให้เที่ยวบินหลายเที่ยวต้องบินวน ซ้ำรอลงนานกว่าครึ่งชั่วโมง และบางเที่ยวบินก็น้ำมันใกล้จะหมด ต้องแก้ปัญหาโดยให้ไปลงที่สนามบินอื่นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว และเอกชนมองว่าการบริหารจัดการแบบนี้ ไม่สามารถนำเสนอจุดขายของไทยเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาผู้โดยสารล้นสนามบิน ดังนั้น ต้องมองปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้ววางแผนรองรับให้ดี"นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า อยากให้ ทอท.เร่งแก้ปัญหาหากรันเวย์ทรุดอีกในอนาคต อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมา ขณะเดียวกันควรเร่งเตรียมการสนามบินดอนเมืองให้รองรับเที่ยวบินนานาชาติได้โดยเร็ว ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ วิศวกรรมสถานพร้อมตรวจนายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ขณะนี้ วสท.ยังไม่ได้รับการติดต่อจาก ทอท.ให้เข้าไปตรวจสอบ หากติดต่อมาก็พร้อมเข้าไปตรวจสอบตามขั้นตอนด้านวิศวกรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งน่ามาจากสนามบินตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดินอ่อน โอกาสเกิดความเสียหายมากกว่าการก่อสร้างในพื้นที่ที่ดินแข็ง อย่างไรก็ตาม การกลับไปดูว่าความเสียหายเกิดจากอะไรนั้น อยากให้ทราบหลักการด้านวิศวกรรม 4 ด้านคือ 1.สนามบินดังกล่าวมีการออกแบบถูกต้องหรือไม่ เพราะพื้นดินแต่ละที่การออกแบบจะแตกต่างกัน 2.ขั้นตอนก่อสร้างถูกหลักการวิศวกรรมหรือไม่ 3.เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีการใช้งานถูกต้องหรือไม่ และ 4.การบำรุงรักษาถูกต้องหรือไม่ เพราะแต่ละที่แต่ละแห่งของโครงสร้างจะมีระยะเวลาในการบำรุงรักษาต่างกัน"เมื่อมาดูหลักการ 4 อย่างแล้ว หากดำเนินการถูกต้องก็อาจเป็นเพราะมีการใช้มาเป็นเวลานาน กรณีสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้งานมาประมาณ 6 ปี ถือว่านาน เป็นไปได้ที่เกิดทรุดโทรม เนื่องจากปริมาณการจราจรทางอากาศ ดังนั้น ทอท.ต้องดูแลรักษาตามขั้นตอน" นายสุวัฒน์กล่าวกัปตันชี้ไม่กระทบเชื่อมั่นกัปตันศรัณย์พล ผุลละศิริ อดีตนายกสมาคมนักบินไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสายการบินต่างชาติ เมื่อมีการซ่อมแซมก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ แม้จะมีบางเที่ยวบินต้องไปลงที่สนามบินอื่นหรือล่าช้ากว่ากำหนด สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อสายตาชาวต่างชาติน่าจะเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มากกว่า เพราะในช่วงหนาแน่น จะมีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมากจนบางคนต้องตกเครื่องบิน กัปตันศรัณย์พลกล่าวอีกว่า ยืนยันสภาพรันเวย์ของไทยโดยทั่วไปยังดีกว่าหลายประเทศ เช่น ที่สิงคโปร์ และเมืองดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) พื้นรันเวย์เป็นคลื่น แต่ที่ดีมากที่สุดคงจะเป็นท่าอากาศยานนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ราบเรียบมาก "ช่วงแรกที่ปิดซ่อมรันเวย์ฝั่งตะวันออก มีปัญหาดีเลย์มาก แต่ก็คลี่คลายลงแล้ว เพราะหลายสายการบินเริ่มปรับตัวได้กับการซ่อมแซมที่เกิดขึ้น จึงมีปัญหาน้อยลง""จารุพงศ์"อยากเห็นรันเวย์ที่3นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว ได้สั่งการให้ ทอท.ตรวจสอบรันเวย์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ นายจารุพงศ์ยังกล่าวว่า ต้องการให้เร่งก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และทำประชาพิจารณ์ก็จะต้องเร่งทั้ง 2 กระบวนการให้เสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะประชาพิจารณ์ ทอท.ต้องจ่ายชดเชยเรื่องเสียงในระยะแรกให้ครบ หากยังจ่ายไม่ครบการทำประชาพิจารณ์รันเวย์ที่ 3 คงไม่ผ่านแน่นอน ส่วนอีไอเอ หากติดขัดในเรื่องอะไรก็ขอให้ ทอท.แจ้งมายังกระทรวงคมนาคมนายจารุพงศ์กล่าวว่า ยังต้องการให้ ทอท.พิจารณาเร่งเปิดท่าอากาศยานดอนเมืองเต็มรูปแบบโดยเร็ว ว่าจะเปิดได้ในเดือนสิงหาคมนี้หรือไม่ จากเดิมที่กำหนดไว้เดือนตุลาคม เพื่อให้รองรับเที่ยวบินได้มากขึ้น
www.matichon.co.th