นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชี้แจงว่า ในวันที่ 25 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา วว. ซึ่งในปีนี้จะครบรอบการดำเนินงาน 49 ปี จึงได้กำหนดจัดงานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 49 ปี วว. ในระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 24 – วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2555 ภายใต้แนวคิด “เผชิญน้ำท่วมอย่างฉลาด ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ณ วว. เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการ นักธุรกิจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร นักวิชาการ บุคลากรภาครัฐและเอกชน นักศึกษา นักเรียน ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชมและร่วมชมกิจกรรมกับ วว.
“ตลอดระยะเวลา 49 ปี วว. สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสร้างสรรค์บูรณาการผลงานวิจัยและเทคโนโลยี นวัตกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องมือแพทย์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างครบวงจร ตามมาตรฐานสากล สร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างขีดความสามารถการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ในปีนี้ วว. ได้จัดกิจกรรมหลากหลาย โดยเฉพาะไฮไลท์ของงานครั้งนี้จะอยู่ที่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมภาคภูมิใจกับความสำเร็จของ วว. ที่ถวายงานโครงการหลวงกว่า 4 ทศวรรษ และพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ นิทรรศการเทคโนโลยี...เผชิญน้ำท่วม พบกับเทคโนโลยีแบบง่ายๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบ้าน รวมทั้งนวัตกรรมที่ วว. นำไปช่วยในวิกฤตอุทกภัย
นอกจากนั้นยังมีการแสดงนวัตกรรมและบริการอุตสาหกรรม TISTR Innovation & Industrial Service นวัตกรรมใหม่/เครื่องจักร/สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การส่งเสริมธุรกิจใหม่และพัฒนาการเรียนรู้ด้าน ว. และ ท. งานบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “Green Heart Green Service” พร้อมบริการให้คำปรึกษาเรื่องระบบคุณภาพ การทดสอบ การสอบเทียบ การรับรอง และการจัดการเครื่องมือหลังประสบอุทกภัย...ฟรี! การจำหน่ายสินค้างานวิจัย สิ่งพิมพ์ และผลิตภัณฑ์ OTOP ในราคาพิเศษ!! กิจกรรมห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (โลกของจุลินทรีย์ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มหัศจรรย์พืชผักผลไม้ วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว และถอดรหัส DNA พืช) เปิดโลกการเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุศาสตร์และการปรับปรุงพันธุ์พืช พร้อมทั้งการอบรมวิชาชีพ 11 หลักสูตร ฟรี!!! การบรรยายพิเศษ 7 เรื่อง ฟรี! รวมทั้งการสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อสร้างศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
พร้อมนี้ ผู้ว่าการ วว. แถลงข่าวชี้แจงความสำเร็จผลงานวิจัยและพัฒนาใหม่ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย/ผลผลิตทางการเกษตร และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนี้
ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสารสกัดฟักข้าว - ผลงานบูรณาการวิจัยของฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร และฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากสารสกัดฟักข้าวช่วยต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอแก่ จำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรส/เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (healthy food & drink) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (food supplement) และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (cosmetic) ทั้งนี้พร้อมจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อทดลองงานวิจัยและแจกเมล็ดพันธุ์ฟักข้าว ฟรี! ภายในงานฯ
ผลิตภัณฑ์ยาเม็ดจากสมุนไพรเพชรสังฆาตรักษาโรคริดสีดวงทวาร-ผลงานวิจัยฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. ผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี พบว่า ยาเม็ดจากสมุนไพรเพชรสังฆาตผลงานวิจัยพัฒนาของ วว. รักษาผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวารได้ผลดีเทียบเท่ายาแผนปัจจุบันที่ผลิตในประเทศไทยและยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังมีราคาถูกกว่าและปลอดภัยต่อผู้ใช้ ทั้งนี้พร้อมบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคริดสีดวงทวารจากศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและแจกผลิตภัณฑ์ยาเม็ดฯ ฟรี! ภายในงานฯ
เครื่องผลิตน้ำดื่มฉุกเฉินในครัวเรือน-ผลงานฝ่ายวิศวกรรม วว. มีขนาดเล็กสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกด้วยคนเพียงคนเดียว ซ่อมบำรุงง่าย สามารถกรองตะกอนสารแขวนลอยหรือดูดซับอินทรีย์สาร ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองตามวิธีการทดสอบตามมาตรฐานเครื่องกรองน้ำดื่มของ สมอ. สามารถใช้ปั๊มมือโยกโดยไม่ใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ใช้สามารถกรองน้ำดื่มได้ด้วยตนเอง มีขนาดกำลังผลิต 50 ลิตร/ชั่วโมง
เครื่องผลิตน้ำดื่มฉุกเฉินจากวัสดุเหลือใช้ (เครื่องผลิตน้ำดื่มแบบชาวบ้าน)-ผลงานฝ่ายวิศวกรรม วว. ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือน ได้แก่ ถังพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก หรืออื่นๆที่หาได้ในครัวเรือน นำมาผลิตเป็นเครื่องผลิตน้ำดื่มได้ด้วยตนเอง สามารถกรองน้ำในลำคลองเป็นน้ำที่ใช้ดื่มได้อย่างปลอดภัย ทดสอบสมรรถนะและคุณภาพน้ำกรองตามวิธีการทดสอบมาตรฐานเครื่องกรองน้ำดื่มของ สมอ. เครื่องกรองน้ำดื่มแบบชาวบ้านนี้ ออกแบบเพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถสร้างเครื่องกรองน้ำดื่มใว้ใช้ได้ด้วยต้นเอง ลดภาระของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายอื่นๆได้มากขึ้น
เฝือกอ่อนย่อยสลายได้จากวัสดุพลาสติกชีวภาพ-ฝ่ายนวัตกรรมวัสดุ วว. ประสบผลสำเร็จพัฒนาวัสดุพลาสติกชีวภาพ ซึ่งมีคุณสมบัติในการคืนรูปร่างต้นแบบได้ มีลักษณะอ่อนตัวสามารถดัดแปลงเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ที่อุณหภูมิต่ำ 65-70 องศาเซลเซียส และยังคงสภาพหลังการดัดตลอดช่วงการใช้งาน ขณะนี้ วว. ได้ประยุกต์ใช้วัสดุพลาสติกชีวภาพรูปแบบใหม่สำหรับเป็นผลิตภัณฑ์ “เฝือกอ่อนย่อยสลายได้” หรือไบโอสปลินท์ (BIOSPLINT) สำหรับใช้ดามกระดูกหรือข้อ เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวหรือจัดอวัยวะที่บาดเจ็บให้อยู่ในท่าที่ต้องการ ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน การแก้ไขความพิการ เช่น ความคดของกระดูก เท้าปุก เป็นต้น ป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ เช่น ผู้ป่วยไฟลวก หรือน้ำร้อนลวก ป้องกันการหักของกระดูก กรณีที่เป็นโรคกระดูกบาง และผู้ป่วยระยะหลังการผ่าตัดที่ต้องการให้ลดการใช้ แขน ขา เพื่อฟื้นฟูสภาพ สามารถถอดและดัดขึ้นรูปได้ใหม่หลายครั้ง ล้างทำความสะอาดได้ด้วยน้ำเปล่า มีน้ำหนักเบา และมีความแข็งแรงสูง สามารถระบายอากาศได้ดี ไม่มีกลิ่นและไม่ระคายเคืองผิว
โครงการสอบเทียบเครื่องมือวัดเพื่อฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย-รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 19 ล้านบาท ให้แก่ วว. เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาด้านการสอบเทียบเครื่องมือวัดให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยจำนวน 4 กลุ่มเป้าหมายคือ 1.นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3.เขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี และ 4. พื้นที่ประสบอุทกภัยอื่น จนสามารถเริ่มกระบวนการผลิตได้อย่างมีคุณภาพโดยเร็ว ตลอดจนช่วยสร้างการหมุนเวียนของกระแสเงินสดให้นำไปสู่การดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีระยะเวลาดำเนินโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ถึงเดือนกันยายน 2555
ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. ในงานเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 49 ปี วว. “เผชิญน้ำท่วมอย่างฉลาด ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2555 เวลา 09.00-17.00 น. ณ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
eureka.bangkokbiznews.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น