วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักข่าวอิศรา...

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักข่าวอิศรา จัดราชดำเนินเสวนาเรื่อง "ยุคนี้ข้าวยาก หมากแพงจริงหรือ?" โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เงา กล่าวว่า มาตรการของรัฐบาลที่ออกมาเป็นแรงกดดันทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น ทีมงานของพรรคได้ลงพื้นที่สำรวจพบว่า ก่อนมีมาตรการทั้งเรื่องพลังงานและค่าแรง ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 16,420 บาทต่อเดือน แต่หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายต่างๆ ออกมา ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนอยู่ที่ 18,680 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 14%

นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่ส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน 1.คือเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนด้านขนส่งและค่าเดินทางของประชาชนเพิ่มขึ้น และมีผลต่อราคาอาหาร ซึ่งราคาอาหารและค่าเดินทางคิดเป็น 55 % ของค่าครองชีพโดยรวม 2.ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีความเสี่ยงต้องปิดกิจการ

"นโยบายหลายเรื่องของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เช่น ต้นปีประชาชนเดือดร้อนจากน้ำท่วม รัฐบาลกลับเดินนโยบายราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนปรับขึ้นท่ามกลางการฟื้นตัวที่ยังไม่เต็มที่ และเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดเทอมประชาชนมีค่าใช้จ่ายมาก รัฐบาลกลับปรับราคาค่าโดยสารขึ้น เพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภค ทั้งที่ควรจะช่วยเหลือประชาชนในช่วงนี้ ซึ่งรัฐบาลควรทบทวนนโยบายด้านพลังงาน ปรับนโยบายให้ชัดเจน" นายอภิรักษ์กล่าว

นายประพจน์ นันทวัฒนศิริ ที่ปรึกษาฝ่ายขาย บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่สินค้าแพงหรือไม่แพงขึ้นอยู่กับการเมือง หากการเมืองนำหน้าจะทำให้ทุกอย่างถูกบิดเบือน ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ ปล่อยไปตามกลไกตลาด และหันมาหากลยุทธ์ช่วยประชาชนให้อยู่ได้ด้วยความจริงเช่น แนะนำว่าอะไรควรประหยัด ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดของแพง หรือเกิดเรื่องแล้วมาแก้ไขภายหลัง

"การเมืองควรจะออกจากกลไกตลาด เพราะปัจจุบันไม่มีรัฐบาลไหนในโลกที่ยังคุมราคาสินค้า และยิ่งอีก 3 ปีข้างหน้าจะเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ หากยังคุมทุกอย่าง มันไม่ได้ ขายของไม่ได้ หากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดก็จะมีการแข่งขันราคาสินค้าก็จะถูกลงเอง ในฐานะภาคเอกชนจึงอยากเสนอว่าการเมืองควรห่างจากกลไกการตลาด" นายประพจน์กล่าว

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยดีขึ้น ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงถือว่าตอนนี้ไม่ใช่ยุคข้าวยาก แต่หมากแพงหรือไม่ ต้องพิจารณาจากปัจจัยสี่ โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคตามที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่ 417 รายการ ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนของกลุ่มอาหารถึง 40% ถือว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่กระทบกับประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงจึงเข้าไปดูแลราคาในสินค้าทุกกลุ่มในช่วงที่มีปัญหาราคาสินค้าแพง ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดเสรี เพราะกลไกตลาดเสรีจะใช้ได้สมบูรณ์ต่อเมื่อ 1.ต้องมีการแข่งขันเต็มที่ 2.อำนาจระหว่างผู้ซื้อผู้ขายต้องเข้มแข็งพอๆ กัน และ 3. ข้อมูลทุกฝ่ายต้องรู้เหมือนกันหมด

"ตลาดไทยยังไม่สมบูรณ์ อย่างน้ำมันปาล์มที่กำลังจะมีปัญหา เพราะราคาปาล์มขึ้นลงควบคุมไม่ได้ รัฐบาลควบคุมได้แค่ราคาขายปลีก ไม่สามารถควบคุมราคาจากต้นทางได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็สั่งให้ตรวจหาสาเหตุว่า ระหว่างต้นทางจนมาถึงปลายทางเกิดผิดปกติในขั้นตอนไหน ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงกลไกการตลาด อย่างไรก็ตาม ในหมวดอาหารปีนี้เมื่อเทียบกับปี 2554 ราคาอาหารถือว่าขึ้นน้อยกว่า ทั้งราคาหมู และไข่"ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า สินค้าทุกหมวดขึ้นไปในอัตราที่น่าพอใจ อยู่ในช่วง 3-4% เป็นการปรับขึ้นตามกลไกของสินค้าแม้แต่หมวดที่รัฐบาลและกระทรวงสามารถควบคุมได้ อาทิ ราคาน้ำมัน พลังงาน จะพยายามเข้าไปแทรกแซง ส่วนไหนที่กลไกตลาดไม่ทำงาน มีการผูกขาดก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ส่วนไหนที่ยังเป็นจุดอ่อน เช่น เอสเอ็มอี รัฐบาลจะเข้าไปสร้างความเข้มแข็ง เช่น สนับสนุนเรื่องเงิน ทุน การบริหารจัดการ ค่าขนส่ง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การบิดเบือนกลไกการตลาดทำให้ข้าวของแพง แม้รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ด้านหนึ่งมองว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่ภาคเอกชนต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 3.7 หมื่นล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 8,000 กว่าล้านบาท เอสเอ็มอีที่มีพนักงานต่ำกว่า 20 คน ต้นทุนเพิ่ม 2.8 หมื่นล้านบาท หากไม่มีมาตรการหรือช่องทางจัดหาเงินทุนให้ อนาคตกลุ่มเอสเอ็มอีจะลำบากมาก

"ถ้าจะให้คนจน 70% ของประชากรไทยเดือดร้อนน้อยลง อยากให้รัฐบาลหันไปดูสินค้าที่กินที่ใช้กันเยอะๆ จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งเชื้อเพลิง น้ำ ไฟ เหล่านี้รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล และอีกอย่างที่น่าห่วงคือ แนวทางการแก้ปัญหาสินค้าแพง โดยใช้นโยบายการเงิน ดูดซับสภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น ทำให้ตอนนี้ ธปท.เป็นหนี้ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก อีกทั้งยังเป็นห่วงเรื่องการกู้หนี้จากต่างประเทศกว่า 4 แสนล้าน เหล่านี้จะเป็นภาระผูกพันไปเรื่อยๆ" นายนิตินัยกล่าว

www.prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม