ท่านผู้ใหญ่ที่เคารพขอให้ผมรับใช้ปัญหาของประเทศไทยในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ตามความเห็นของผม) ขอเรียนว่า ถ้าเป็นเรื่อง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" AEC มีผู้คนเขียนถึงกันมากแล้ว ผมขอมองในมุมของอีกเสาหลักหนึ่งของ AC หรือประชาคมอาเซียน ดีกว่า เสาที่ว่านี่ก็คือ เสา "ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน" หรือที่เราเรียกกันว่า ASCC
ผมว่าหนึ่งในปัญหาหลักของเราอยู่ที่สถาบันการศึกษาครับ สถาบันของเราผลิตคนออกไปไม่ตรงกับงาน ตลาดแรงงานต้องการพวกช่าง แต่สถาบันการศึกษาของเราส่วนใหญ่ดันไปผลิตแต่บัณฑิตทางสังคมศาสตร์และการบริหารออกมาจนล้นประเทศ ผมเชื่อว่าเมื่อเปิดเสรีให้มีการแข่งขันทางการศึกษาแล้ว สถาบันการศึกษาของไทยได้รับผลกระทบ เพราะสถาบันของต่างประเทศคงจะเข้ามาเปิดสอนวิชาที่ตลาดแรงงานต้องการในประเทศไทย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในประชาคมอาเซียนคือ ภาษาอังกฤษ เราต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมานะครับว่า รัฐบาลไทย (ไม่ว่าจะสมัยไหนๆ) ยังไม่ได้มีโครงการอันไหนใดเลยที่จะพัฒนาศักยภาพผู้คนของเราให้ติดต่อสื่อสารกันโดยตรงกับชาวต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบกับประเทศอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
เราเสียเปรียบชาติพวกนี้มาก
และแทนที่กระทรวงศึกษาธิการจะสอนให้ผู้คนเก่งภาษาอังกฤษ กลับทำตรงกันข้าม หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ดันไปลดเวลาเรียนภาษาอังกฤษลง เดิมเคยเรียนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง (ซึ่งก็มีน้อยมากอยู่แล้ว) ลดลงมาให้เหลือเพียงสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง นี่หรือครับคือการเตรียมตัวให้ประชาชนคนไทยได้เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ของกระทรวงศึกษาธิการของไทย? แถมข้อสอบภาษาอังกฤษสมัยนี้ยังเป็นข้อปรนัยซะส่วนมาก ให้นักเรียนเพียงแค่กาผิดกาถูก ลดการเขียน ทอนการอ่าน การฟังของเยาวชนคนของเราลง เด็กของเราจึงด้อยประสิทธิภาพด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ผู้คนชนอาเซียนทั้ง 600 ล้านคนจะใช้ทำงานร่วมกัน
ราชอาณาจักรไทยของเราปฏิรูปการศึกษาโดยมีการใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542+กำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) แต่ผู้อ่านท่านลองไปดูสาระสำคัญของการปฏิรูปเถิด มีแต่เรื่องการเพิ่มเงินเดือน เรื่องเงินวิทยฐานะ เรื่องสวัสดิการของครูผู้สอนมากกว่าการปฏิรูปให้เยาวชนคนของเราที่เป็นนักเรียนที่มีความรู้ ซึ่งการเพิ่มสวัสดิการต่างๆของครูเป็นเรื่องที่ดีครับ แต่หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาลึกซึ้งมากไปกว่านั้น
ปัจจุบันทุกวันนี้ เราขาดครูผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาวิชา ที่ขาดกันอย่างมากเลยก็คือ ครูภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ คนที่ไปเรียนครูจำนวนไม่น้อยเลือกเรียนแต่วิชาง่ายๆ สบายๆ บั้นปลายท้ายที่สุดต้องไปเอาครูผู้สอนวิชาคหกรรมมาสอนภาษาอังกฤษ เอาครูพละมาสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผู้อ่านท่านลองหลับตาจินตนาการถึงคุณภาพของเด็กของเราก็แล้วกัน
งบประมาณที่หลายหน่วยงานได้ไป แทนที่จะเอาไปใช้ในการเรียนการสอนหลักสูตรเกี่ยวกับอาเซียนศึกษา เพื่อให้เยาวชนคนของเรารู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีเนื้อหาสาระ ท่านกลับเอางบประมาณไปซื้อชุดประจำชาติอาเซียนมาให้นักเรียนใส่ ไปซื้อธงชาติของอาเซียน 10 ประเทศมาติดรอบโรงเรียน โรงงานผลิตตุ๊กตา บอกว่าตอนนี้ผลิตตัวตุ๊กตาอาเซียนกันแทบไม่ทัน เพราะซื้อกันมากมายจริงๆ มีบริษัทวิ่งเข้าไปเสนอขายถึงในโรงเรียน และก็แน่นอนมีส่วนลดพิเศษให้ผู้ซื้อมากถึง 30–50% งบประมาณทั้งหลายในด้านนี้จึงถึงถูกใช้ไปอย่างสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง
หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มมีการเชื่อมโยงระหว่างเมืองใหญ่เมืองเล็กของอาเซียน โดยเฉพาะเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรม แต่ผู้อ่านท่านลองสำรวจตรวจตราลงไปในจังหวัดและอำเภอ หรือเทศบาลระดับต่างๆของไทยซีครับ จะมีสักกี่แห่งที่เริ่มดำเนินการเชื่อมโยง แม้แต่เมืองตามชายแดน เราก็ยังไม่ได้ทำการเชื่อมกันนักเท่าใดเลย ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้ประชาชนคนไทยยอมรับในความเป็นพลเมืองอาเซียน เขียนให้เข้าใจง่ายขึ้นหน่อยหนึ่งก็คือ เราก็มีแต่พูดกันด้วยปากว่าจะเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ทว่า เราดีแต่พูดเท่านั้น การกระทำและใจของผู้คนของเราส่วนใหญ่ยังไม่ได้เอาด้วย
เรื่องใจนี่แหละครับสำคัญสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนครับ.
www.thairath.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น