เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2553 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวันร่วมกับคณะ ธ.ก.ส. ในการดูงานในครั้งนั้นผู้เขียนได้มีโอกาสไปเที่ยวชมตลาดขายพันธุ์ไม้ผลที่มีชื่อเสียงของไต้หวันซึ่งมีไม้ผลหลากหลายชนิดผู้เขียนได้ซื้อชมพู่มาต้นหนึ่งราคาต้นละ 500 เหรียญไต้หวันซึ่งเมื่อคิดเป็นเงินไทยประมาณ 500 บาท (ราคาแลกเปลี่ยนเงินตราเงินไต้หวันกับเงินไทยใกล้เคียงกัน) รายละเอียดที่ติดมากับชมพู่ต้นนั้นเป็นภาษาจีนและเมื่อแปลเป็นภาษาไทยชื่อว่า “ชมพู่น้ำหอมที่ใหญ่เท่ากับฝ่ามือ” และได้นำกิ่งพันธุ์ชมพู่ไต้หวันมาเลี้ยงให้ต้นเจริญเติบโตและได้นำยอดมาเสียบบนต้นชมพูพันธุ์ทับทิมจันท์ที่แผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร ได้ปลูกไว้เพื่อบริโภค 2 ต้น และมีอายุต้นประมาณ 5 ปี ได้เสียบยอดชมพู่ไต้หวันบนต้นชมพู่ทับทิมจันท์เพียงต้นเดียวเลี้ยงยอดชมพู่ไต้หวันที่แตกออกมาเป็นเวลาประมาณ 2 ปี และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้น เห็นว่าต้นชมพู่ไต้หวันแตกทรงพุ่มใหญ่เห็นว่าควรใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อบังคับให้ต้นชมพู่ออกดอกติดผลนอกฤดู ในการบังคับให้ต้นชมพู่ออกนอกฤดูนั้น ผลปรากฏว่าต้นชมพู่ได้ออกดอกมาเพียง 1-2 ช่อเท่านั้น ได้พยายามบำรุงรักษาเป็นอย่างดีเพื่อดูว่าผลชมพู่จะมีขนาดผลใหญ่จริงหรือไม่ ในขณะที่ต้นชมพู่เลี้ยงผลอยู่เพียง 1-2 ช่อนั้น พอเข้าเดือนมีนาคม 2555 ผลปรากฏว่าต้นชมพู่ไต้หวันที่เสียบไว้ทยอยออกดอกทั้งต้น ถึงทุกวันนี้เดือนพฤษภาคม 2555 ก็ยังมีดอกออกมา อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงที่ผ่านมาได้มีการฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนสะสมมาโดยตลอด
หลังจากที่ห่อผลชมพู่ไต้หวันไปได้ประมาณ 25-30 วัน (โดยเริ่มห่อในระยะที่ผลชมพู่ถอดหมวกหรือผลใหญ่ขนาดนิ้วโป้ง) พบว่าผลชมพู่ไต้หวันที่เก็บเกี่ยวมานั้นมีขนาดของผลใหญ่กว่าชมพู่สายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผู้เขียนพบมาโดยมีคุณสมบัติของผลดังนี้ “ผลมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักผลประมาณ 200 กรัม หรือ 5 ผลต่อกิโลกรัม ผิวผลมีสีขาวอมชมพูหรือสีชมพูอมแดง ลักษณะของผลเป็นรูประฆังคว่ำใหญ่ มีความกว้างของผลเฉลี่ย 7 เซนติเมตรและความยาวของผลเฉลี่ย 9-10 เซนติเมตร เนื้อหนามากและเป็นชมพู่ไร้เมล็ด รสชาติหวานกรอบมีความหวานประมาณ 11-12 บริกซ์ ถ้าผลผลิตแก่และเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งจะมีความหวานสูงกว่านี้ จัดเป็นชมพู่สายพันธุ์หนึ่งที่ออกดอกและติดผลดกมาก” ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรจึงได้ตั้งชื่อชมพู่ไต้หวันสายพันธุ์นี้ว่า “ชมพู่ยักษ์ไต้หวัน”
การปลูกและการบำรุงรักษาชมพู่ยักษ์ไต้หวัน ก่อนอื่นมีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับเกษตรกรที่จะปลูกชมพู่ยักษ์ไต้หวันในเชิงพาณิชย์ว่า ควรจะเริ่มต้นปลูกในพื้นที่เพียง 1-3 ไร่ก็พอแล้ว เนื่องจากชมพู่ยักษ์ไต้หวันมีการจัดการและบำรุงรักษาไม่แตกต่างจากชมพู่ทับทิมจันท์ การจัดการที่สำคัญคือการห่อผล ระยะปลูกที่แนะนำคือระยะระหว่างต้น 5 เมตรและระยะระหว่างแถว 6 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 50 ต้น เกษตรกรจะเลือกใช้กิ่งปักชำปลูกก็ได้ เนื่องจากต้นจะเจริญเติบโตเร็วและให้ผลผลิตเมื่ออายุต้นเพียงปีเศษเท่านั้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น