วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หอการค้าอีสานชี้ สส.บู๊ในสภาฯทำภาพลักษณ์ประเทศยับเยิน

หอการค้าอีสาน ฟันธง ส.ส.บู๊ในสภาทำภาพลักษณ์ประเทศเสียหายเดือนละไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้าน เผยฟังคำเตือนออง ซาน ซูจี ระบุประชาชนขาดความเชื่อใจบรรดา ส.ส.ที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่บริหารงานประเทศ...

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ รองประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือหอการค้าไทย กล่าวถึงเหตุ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์สร้างความชุลมุนในสภาฯว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเป็นชนวนเหตุที่ทำให้รัฐสภาเกิดความวุ่นวายขึ้น พ.ร.บ.ฉบับนี้มีชื่อว่า พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ในข้อเท็จจริงแล้วจะมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา อีกประเด็นที่น่าสนใจคือผู้ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการปรองดองออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า เหตุผลที่ไม่สามารถเข้าไปพิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในที่ประชุมรัฐสภานั้นเนื่องจากมีคนห้ามไม่ให้เข้าที่ประชุม และกรณีที่ทางพล.อ.สนธิไม่สามารถที่จะชี้แจงรายละเอียด ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ เพราะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงทำให้ประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารเกิดความสงสัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งใจที่ร่างขึ้นมาเพื่อความปรองดองจริงหรือไม่

อีกทั้งเหตุผลสำคัญคือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกนำมาเสนอที่ประชุมสภาเพื่อพิจารณาไม่ตรงเวลา เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเศรษฐกิจโลก "World Economic Forum" ซึ่งเป็นการประชุมที่คนทั้งโลกที่เป็นนักลงทุนรวมถึงสื่อมวลชนและผู้นำประเทศทั่วโลก เดินทางมาร่วมการประชุมที่ประเทศไทย ฉะนั้นการที่มีการเปิดประเด็นเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ในขณะนี้จนเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งกันเองของบรรดา ส.ส.ในสภา และมีการชุมนุมต่อต้านของกลุ่มมวลชน ทำให้ผู้ที่เข้ามาร่วมประชุมเศรษฐกิจโลกนั้นได้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากจนเกินไป จนทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าถ้าหากไม่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองดังกล่าวมาพิจารณาในช่วงนี้ภาพที่ออกสู่สายตาคนทั่วโลกและภาพลักษณ์ความเสียหายจะน้อยกว่าที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อย่างแน่นอน

นายทวิสันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวนั้นมีอยู่ 2 ด้าน ผลกระทบด้านแรกคือผลกระทบต่อภาพลักษณ์รัฐสภาไทยในสายตาของคนทั่วโลกที่มอง ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นประเทศไทยใช่ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนเหตุใดถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยนั้นมองว่าแก้ไขได้ลำบาก และความเชื่อถือของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยของไทยก็จะลดน้อยลง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เกิดกลุ่มมวลชนที่ไม่พอใจลุกฮือขึ้นต่อต้านระบอบประชาธิปไตยของไทยจนเกิดความวุ่นวายบานปลายขึ้นได้ เพราะขาดความเชื่อใจกับบรรดา ส.ส.ที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่บริหารงานประเทศ

ส่วนผลกระทบอีกด้านคือผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เพราะวันนี้ถึงแม้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ขึ้นประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างบอบช้ำมากพออยู่แล้ว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของการแข่งขันด้านการตลาดต่างๆ กับประเทศคู่แข่ง เนื่องจากประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน ทำให้ขณะนี้นักลงทุนในประเทศจำนวนมากคิดที่จะย้ายฐานผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นก็เชื่อว่าจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนที่กำลังลังเลใจว่าจะลงทุนในประเทศไทยดีหรือไม่นั้นตัดสินใจที่จะเลือกประเทศอื่นที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าเป็นฐานการผลิตอย่างแน่นอน เพราะนอกจากประเทศไทยจะมีต้นทุนการลงทุนที่สูงกว่าแล้ว การเมืองภายในประเทศยังมีความขัดแย้งและไม่มีเสถียรภาพอีกด้วย

นายทวิสันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากภาพที่เกิดขึ้นในสภาแล้ว การชุมนุมของกลุ่มมวลชนนอกสภาเพื่อต้านการพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดองอยู่ในขณะนี้ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศเดือนละไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านบาท และหากว่าเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้น ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจหอการค้าไทยประเมินว่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศเดือนละประมาณ 60,000-100,000 ล้านบาท ฉะนั้นร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวควรที่จะเลื่อนไปพิจารณากันในช่วงเวลาอื่นจะดีกว่า และวันนี้ยอมรับว่าความแตกแยกภายในประเทศนั้นมีมาก ซึ่งอาจจะส่งผลให้ความรุนแรงเกิดขึ้นตามมาได้อีก เพราะขนาด ส.ส.ซึ่งทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งประเทศยังมีความขัดแย้งกันอย่างที่เห็น ประชาชนทั่วไปจะขัดแย้งกันมากขนาดไหน

ทั้งนี้ คำพูดของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำประเทศพม่าและได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลก ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยว่า ประเทศไทยตอนนี้กำลังย้อนกลับไปเหมือนเช่นสมัยที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไทยในอดีตกำลังจะแตก ซึ่งคำพูดของนางออง ซาน ซูจี นี้ เป็นเรื่องที่น่าคิดและคนไทยทุกคนต้องระวัง เพราะเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาแตกในครั้งนั้น เกิดขึ้นจากความขัดแย้งกันของคนในประเทศ โดยเฉพาะเหล่าแม่ทัพนายกอง จนเป็นเหตุให้พม่าส่งไส้ศึกมาสืบความลับและเข้าตีเมืองจนแตก และหากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้แล้วถือว่าใกล้เคียงกันอย่างมาก ฉะนั้นคนไทยต้องควรระวังเอาไว้ และควรที่จะยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้นและหันหน้าเข้าหากันยอมรับฟังความคิดเห็นของกันและกันได้แล้ว.

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม