วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ม้ามืดตัวใหม่ในสายพานเศรษฐกิจ ครองขวัญ รอดหมวน

มิงกะลาบา เป็นภาษาพม่า แปลว่า "สวัสดี" ช่วงนี้คงต้องขออินเทรนด์เกาะกระแส "พม่าฟีเวอร์" ซะหน่อย เพราะตั้งแต่เมื่อ "อองซาน ซูจี" มา อะไรๆ ในประเทศไทยก็ดูจะอินกับเรื่องพม่าน่าดู ก็เพราะตอนนี้คงไม่มีอะไรร้อนแรงสู้กระแสนี้ไปได้ เริ่มตั้งแต่เมื่อ "อองซาน" มาถึงเมืองไทยเพื่อร่วมงาน "เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม 2012" ว่าด้วยเอเชียตะวันออก สื่อมวลชนทั้งไทยและเทศก็โหมประโคมข่าวกันใหญ่โตมโหฬารดาวล้านดวงมากๆ ดังนั้นถ้าไม่เรียกว่า "พม่าฟีเวอร์" ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว
เพราะทันทีที่ "อองซาน" มาถึงเมืองไทยก็รีบไปเยี่ยมประชากรชาวพม่าที่มาอาศัยทำงานอยู่ในประเทศไทยที่ตลาดกุ้งสด สมุทรสาครทันที ท่ามกลางเสียงตอบรับของชาวพม่าอย่างมหาศาล ที่มาพร้อมกล้องถ่ายรูป ป้ายไฟภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งดอกไม้มารอต้อนรับ พร้อมทั้งตะโกนว่า "เมซู" แปลเป็นภาษาไทยว่า "แม่" ก่อนจะปรบมือรัวพร้อมตะโกนคำอวยพรขอให้อองซานสุขภาพแข็งแรง
ต้องบอกก่อนว่าทำไมทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับ "พม่า" มากมายขนาดนี้ โดยเฉพาะการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของอองซานในรอบ 24 ปี เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญอย่างมากหลังจากประเทศพม่าเริ่มเปิดประเทศรับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย และดำเนินการปฏิรูปประเทศภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพม่า และการเปิดประเทศของพม่าครั้งนี้ หลายประเทศจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศ "ไทย"
นั่นเพราะพม่าเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในแง่ของทรัพยากรทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ถือเป็น "ม้ามืด" ที่อาจเข้ามาแย่งชิงตลาดต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยก็ได้ ดังนั้นหากไทยยังไม่เร่งเครื่องดำเนินการอะไรซักอย่าง คงไม่วายได้เป็นมวยรองของพม่าเป็นแน่
การเติบโตด้านเศรษฐกิจของพม่า ที่เริ่มส่งสัญญาณชัดเจน คงดูได้จากมูลค่าการค้าในแถบชายแดน โดยจากข้อมูลการค้าในแถบชายแดนระหว่างไทยกับพม่าในปี 2554 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 151,100 ล้านบาท คิดเป็น 11.9% ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม
การเปิดประเทศของพม่าครั้งนี้ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมตัวรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2558 และเรื่องนี้เองที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่า "พม่า" คือของจริงหรือไม่ พม่าจะสามารถใช้เวทีเออีซีในการหยิบฉวยหรือสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศของตนเองได้ดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเชื่อว่าพม่าจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งแน่นอน ส่วนหนึ่งจะมาจากการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของนานาชาติ จะเป็นปัจจัยหนุนและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพลิกโฉมพม่าในยุคนี้
เห็นพม่ากำลังจะแข็งแกร่งและก้าวลงสู่สนามเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว พี่ไทยอย่างเราดูจะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะหากมองย้อนไปลึกๆ แล้ว ไทยเองไม่ได้เหนือกว่าพม่ามากนัก โดยเฉพาะในแง่ของทรัพยากรทางเศรษฐกิจ นั่นเพราะไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปก่อนพม่า มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปก่อนหน้าเป็นจำนวนมากแล้ว เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ไทยจึงต้องหาทางตั้งรับอย่างถูกวิธี และคอยรุกอย่างมีชั้นเชิงด้วย
โดยเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหน้าที่ของกรมศุลกากรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งรับและคอยรุก และต้องยอมรับว่ากรมศุลกากรไม่ได้นิ่งนอนใจจริงๆ เพราะทันทีที่ตัวเลขการค้าในแถวชายแดนฝั่งพม่าเริ่มขยายตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ ไทยก็เตรียมฉวยโอกาสนี้ทันที โดยเรื่องนี้ "นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร" ระบุว่า ขณะนี้กรมศุลกากรได้จัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวร เพื่อเชื่อมต่อการค้าชายแดนไทยกับพม่าให้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับการเตรียมความพร้อมของกรมศุลกากร ถือเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บของไทยได้อีกทางหนึ่ง ด้วยเพราะการเติบโตของการค้าในแถบชายแดนไทยพม่าในอนาคตอาจกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งเหนือพม่าอยู่ได้ และเมื่อรวมกับจุดอ่อนของพม่าที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือแก้ไข โดยเฉพาะในเรื่องปัญหาระบบธนาคารพาณิชย์ของพม่าที่ยังไม่เป็นสากลและยังไม่มีแนวโน้มที่จะพัฒนา เนื่องจากพม่าควบคุมระบบการหมุนเวียนของเงินตราอย่างเข้มงวด เนื่องจากปัญหาความไม่มั่นคงในพื้นที่ รวมถึงปัญหาการแลกเปลี่ยนสกุลเงินจัตกับเงินบาทไทยที่ยังไม่เป็นที่นิยม ประกอบกับการซื้อขายสินค้าต้องกระทำด้วยการใช้เงินสดเท่านั้น จึงทำให้พม่ายังไม่คล่องตัวมากนักในเรื่องการเงิน
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงปัญหาเรื่องความเสี่ยงทางการค้าที่ผู้ประกอบการจากนอกพื้นที่ไม่กล้าเสี่ยงที่จะเข้ามาทำการค้า เนื่องจากระบบการค้าแบบเงินสด และความไม่แน่นอนทางการค้าของผู้ประกอบการฝั่งพม่า ทำให้เป็นเพียงการค้าเฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้น และจากปัจจัยลบของพม่านี้ที่จะเป็นตัวเสริมสำคัญที่ทำให้ "ไทย" ยังผงาดอยู่ในตลาดอาเซียนได้อย่างเฉิดฉาย ยิ่งเมื่อรวมกับภูมิประเทศของไทยที่เป็นจุดศูย์กลางอาเซียน เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการค้าขายทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ถือว่ายังเป็นข้อได้เปรียบอยู่มาก
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตไปไกลกว่าพม่าเท่าใด แต่ถ้าหากพี่ไทยยังนิ่งเฉย มองคู่แข่งอย่างประมาท โอกาสในการก้าวพลาด โดยประเทศนอกสายตาอย่าง "พม่า" ก็เป็นได้ ดังนั้นไม่ว่าประเทศไทยจะพัฒนาไม่ว่าจะในด้านใดไปไกลแค่ไหน ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ เรายังจำเป็นต้องพัฒนาไปข้างหน้าอยู่เสมอ.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม