วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หวั่น "ปรองดอง"กระทบเศรษฐกิจ

ถ้าไม่มีเหตุการแทรกซ้อนอันไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นอีก ผมก็เชื่อเหมือนที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อในขณะนี้ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตในปีนี้ด้วยอัตราที่น่าพอใจ

การติดตามข่าว ผู้สันทัดกรณีทางเศรษฐกิจที่ออกมาแถลงถึงสถานการณ์ในช่วงเกือบครึ่งปีของประเทศไทย ล้วนเป็นไปในเชิงบวกทั้งสิ้น

สภาพัฒน์โดยท่านเลขาธิการ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมา บวก 0.3 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับติดลบถึง 8.9% เมื่อไตรมาสก่อน ทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว เช่น การผลิต การบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว ฯลฯ รอบด้าน จากนั้นก็คาดว่าตลอดทั้งปี คือ ปี 2555 นี้ จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5.5 ถึง 6.5 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาแถลงในทิศทางเดียวกับสภาพัฒน์ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 6

การคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ประเทศ ไทยเราพึ่งพาต่างประเทศลดน้อยลงจากเดิมที่ผ่านมา ทำให้ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก หรือวิกฤติยุโรปที่ประเทศไทยเราจะได้รับจะไม่รุนแรงนัก

แม้การส่งออกจะลดลงบ้าง แต่แรงกระตุ้นของการลงทุนในประเทศและอุปสงค์ในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ

ในบรรดานักพยากรณ์ชี้แจ้งว่าเศรษฐกิจไทยเราจะขยายตัวน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ได้แก่ ผู้แทนของธนาคารโลกประจำประเทศไทย

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าการคาดการณ์ของสภาพัฒน์และแบงก์ชาติ

แต่ก็ยังเป็นบวกอยู่ดี และจริงๆแล้วอัตราการขยายตัวที่ว่านี้ก็เป็นอัตราที่ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน

รวมความแล้วทุกๆสำนักเศรษฐกิจเห็นไปในทำนองเดียวกันหมดว่า ประเทศไทยกำลังฟื้นตัวต่างกันเพียงฟื้นมาก หรือฟื้นน้อยเท่านั้น

แม้ตัวเลขที่ใช้ในการพยากรณ์จะไม่เผยถึงข้อเท็จจริงของประเทศไทยทั้งหมด เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว เรายังมีอะไรต่อมิอะไรที่อยู่นอกเหนือตัวเลข GDP อีกมาก

แต่สิ่งที่ตัวเลขของนักพยากรณ์เหล่านี้บอกเราก็พอจะนำมาใช้ในการสร้างความมั่นใจ หรือช่วยในการวิเคราะห์ภาพส่วนรวมได้ว่าทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นไปในแง่ดี

ประเด็นที่ต้องระวังไว้ให้มากๆก็คือ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากวิกฤติยุโรป ซึ่งหลายๆฝ่ายบอกว่าอาจไม่กระทบประเทศไทยเราในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวต้องกระทบแน่ๆ

ปัจจัยที่จะเป็นผลบวกทางเศรษฐกิจของเราอีกประการหนึ่งก็คือ ราคานํ้ามันที่มีแนวโน้มลดลงมาเรื่อยๆในตลาดโลก ที่จะช่วยลดความกดดันในเรื่องภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการผลิตของเราลงได้พอสมควร

โดยเฉพาะปัจจัยทางด้านการเมืองที่ทำท่าจะคุกรุ่นจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ที่สภาผู้แทนรับบรรจุไว้เป็นวาระพิจารณาแล้ว

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายปรองดองฉบับนี้ค่อนข้าง “ผิดคิว” คือ เข้ามาเร็วไปหน่อย อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นมาอีกได้ โดยเฉพาะหลายๆมาตรายังมีความล่อแหลมที่อาจจะเป็นชนวนให้มีการประท้วงที่รุนแรงหากปล่อยให้ผ่านออกมา

จะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเราที่กำลังจะก้าวเดินไปค่อนข้างดีพอ เกิดอาการสะดุดหรือทรุดตัวไปเสียเปล่าๆ

ปลายปีที่แล้ว เศรษฐกิจดิ่งวูบ เราไม่โทษใคร เพราะเป็นเรื่องของโชคของเคราะห์ เนื่องจากเกิดมหาอุทกภัย ไม่มีใครจะฝืนธรรมชาติได้ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องรับเคราะห์กันไป

ปีนี้ประเทศไทยเราจะโชคร้ายอีกหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป และขอทุกๆฝ่ายโปรดระวังโรคแทรกซ้อนจาก พ.ร.บ.ปรองดองเอาไว้ด้วยก็แล้วกันครับ.



www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม