วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สื่อต้องเข้าใจเนื้อหากฏหมายก่อนนำเสนอ

ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี วันนี้ (22 มิ.ย.) นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวช่วงหนึ่งในการจัดสัมมนาศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ก็มีการจัดขึ้นทุกปี เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาลและสื่อ โดยช่วงการจัดสัมมนาบรรยากาศก็ราบรื่นดี แต่พอจบการสัมมนากลับไปก็มีการโจมตีศาลฯ เหมือนเดิม แต่เราก็ต้องอดทน เพราะเราอยู่ตรงนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอดทนไปได้นานเท่าไร ความอดทนของเราก็มีขีดจำกัด และสิ่งที่นายเสรี พูดนั้น ตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่มันเป็นอุดมการณ์นำมาปฏิบัติยาก ที่สื่อจะต้องทำความเข้าใจในเหตุการณ์ที่ถูกต้อง และต้องอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ทำยาก เพราะบางครั้งสื่อก็ไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร ก็คงลำบากที่สื่อจะพยายามเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ สื่อก็ต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สื่อจะเสนอข่าวในทางกฎหมายหรือคดีก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายด้วย

“ ทุกวันนี้คนไทยไม่เคารพกติกา มารยาท ซึ่งผมเองก็เคยประสบและการทำงานที่ผ่านมาก็เคยพบเห็นคนที่วิ่งเต้น ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์เพราะวิ่งเต้นอย่างไร เราก็ต้องตัดสินไปตามหลักฐานที่มีอยู่ ถ้ามีการวิ่งเต้นเราต้องรู้ให้ทันแต่ต้องนิ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ไม่วอกแวก ผมก็ทำอาชีพด้านกฎหมายนี้มา 44 ปี แล้ว แต่ก็นึกขำและตลกอยู่เหมือนกัน ที่คนที่ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ซึ่งโทรทัศน์หลายช่องเชิญนักวิชาการมารุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญสถานเดียว ผมไม่ได้โกรธเคืองอะไร แต่ขำและแปลกใจเท่านั้น เมื่อพิธีกรถามนักวิชาการในเรื่องของเนื้อหากลับงง และตอบหน้าตาเฉยว่ายังไม่เห็นคำร้อง แต่ด่าได้เป็นฉากๆ นี่คือข้อที่สื่อไม่พยายามที่จะเสนอความเห็นหลายๆ ด้าน เพียงแต่เสนอเพียงด้านเดียวให้ประชาชนรับข้อมูลด้านเดียว ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจ เรื่องนี้ยาก แต่ผมก็พยายามทำความเข้าใจกับสื่อให้ง่ายที่สุดแต่ก็ยังไม่เข้าใจกัน ”นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น เขาร้องว่ามีการอ้างว่ามีการกระทำที่อาจเป็นการล้มล้างและเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ บังเอิญการกระทำนั้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลำดับความของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คืออ้างกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ เราก็ไปดูในตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เตรียมจะโหวตในวาระ 3 ซึ่งดูแล้วเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะรัฐสภาชุดนี้ขายขาดไม่รับคืน โยนกลองไปให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้วิธีการแก้หรือเปลี่ยนวิธีการแก้ แทนที่จะแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งความจริงก็ไม่เป็นไร แต่กลับโยนภาระให้กับส.ส.ร. เพื่อที่ท่านจะตอบว่าไม่รู้ ขึ้นอยู่กับส.ส.ร.8 ซึ่งท่านจะบังคับส.ส.ร.ไม่ได้ พอได้ส.ส.ร. แล้ว ส.ส.ร.ก็ไปยกร่างโดยมีกรอบว่าต้องไม่แตะต้องหมวด1 เกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง และหมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าส.ส.ร.ร่างมาแล้วเกิดไปแตะในมาตราดังกล่าวนั้นเขาก็คงให้เหตุผลว่าไม่เป็นไรเพราะมีประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งถ้าประธานรัฐสภาเห็นว่าแตะก็จะนำเข้าสู่สภาฯเพื่อวินิจฉัย แต่ถ้าประธานรัฐสภา เห็นว่าไม่ได้แตะและผ่านเลยไปลงประชามติ ดังนั้นผลที่ตามาจะเป็นอย่างไร และมีผลหรือไม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ หรือมีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 หมวด 2 ที่มีการห้ามไว้ ประธานรัฐสภาเป็นบุคคลที่ทรงเกียรติถ้าเชื่อถือบุคคลเป็นที่สูงสุดก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมาย ถ้าทุกคนมีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ไม่ต้องมีกฎหมายในบ้านเมืองเราก็อยู่กันได้

“ประธานรัฐสภา กำของร้อนไว้ แต่ถ้าท่านฮั้วกับส.ส.ร. ท่านก็จะบอกว่าอันนี้ไม่ได้แตะและก็ผ่านไปลงประชามติเลย ท่านคิดว่าคนที่ลงประชามติมีความเข้าใจสักกี่คน และท่านก็เคยบอกว่าลงประชามติปี 50 ประชาชนไม่เข้าใจเลย ผ่านมา 5-6 ปี รู้ทุกตัวอักษรแล้วหรือ คุณภาพเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือ ก็ไม่ว่ากัน แล้วตกลงที่บอกว่าล้มล้างการปกครองก็ยังไม่เห็นมีใครออกมาปฏิเสธว่ามีความคิดแนวนี้หรือไม่ ไม่เห็นมีใครปฏิเสธสักคำ เป็นคู่ความประสาอะไรมิทราบ โจทย์ฟ้องจำเลยแทนที่จำเลยจะไปสู้คดีกับโจทย์แต่กลับมาสู้กับศาลฯ ไม่รู้ว่าสภาทนายความสอนแบบนี้หรือ แล้วจะชนะความได้อย่างไร และการที่รับคำร้องเพราะรับไว้เพื่อพิจารณาว่ามีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ก็ยังไม่ได้บอกว่าใครจะแพ้จะชนะ ก็ดันจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย์สั่งให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม ตัวอย่างที่ผ่านมาก็มีเรื่องคดียุบพรรคไทยรักไทยก็มีให้เห็นอยู่แล้ว ก็มัวแต่รบกับศาลฯ จนกระทั่งเนื้อหาไม่ได้ต่อสู้กับอัยการ ต่อสู้ไม่เต็มที่เต็มหน่วย ผลที่ออกมาก็เป็นอย่างนั้น ยากที่จะเข้าใจและสื่อก็มาถล่มเอา นานๆ จะนำเสนอออกมาเป็นกลางสักที ก็ตามใจ แต่ผมก็พยายามจำ ผมเป็นคนไม่อาฆาตใคร แต่ค่อนข้างที่จะลืมยาก ”ประธานศาลรธน. กล่าว

นายวสันต์ กล่าวว่า กฎหมายที่ออกมาได้ไม่ใช่กฎหมายที่ดี แต่เป็นกฎหมายที่ลงตัวกันของคนออกกฎหมาย ความเห็นลงตัวของส.ส.เมื่อความเห็นลงตัว กฎหมายที่ดีหลายฉบับออกมาไม่ได้ เพราะความเห็นของผู้ออกกฎหมายไม่สอดคล้องกัน ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ส่วนเรื่องสองมาตรฐาน คำนี้ได้ยินมาตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งได้ยินจากคนที่วิจารณ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ผ่านมา คือ เรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จต่อป.ป.ช. เป็นการแจ้งหลังจากพ้นจากตำแหน่ง มีตุลาการจำนวนหนึ่ง ตอนเช้ากรณีดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญปี 40 มาตรา 295 แต่ตอนบ่ายตุลาการชุดนั้นกลับวินิจฉัยว่าไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ปี 40 มาตรา 295 กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าเรื่องเหมือนกันแต่กลับตัดสินต่างกัน ถึงเรียกว่าสองมาตรฐาน

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า การยึดโยงกับประชาชนที่นายพงษ์ศักดิ์ ระบุว่า ฝ่ายตุลาการต้องเป็นอิสระ ซึ่งก็ถูกตำหนิว่าขาดการยึดโยงกับประชาชน จะเอาเลือกตั้งผู้พิพากษาดีหรือไม่ ถ้าให้เลือกตั้งผู้พิพากษาแล้วใครทะเลาะกับหัวคะแนนก็แพ้หมด หรือให้สภาฯแต่งตั้งผู้พิพากษา ใครเป็นคู่ความกับนักการเมืองก็แพ้หมด เราก็อยากจะยึดโยง เพราะตนกับนายสุพจน์ ก็ผ่านการสรรหาและได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพราะวุฒิสภามีทั้งสรรหาและเลือกตั้ง พวกตนทั้ง 4 คนที่ผ่านการสรรหา ต่อให้ตัดเสียงจากส.ว.สรรหา จำนวนเต็ม 74 เสียง พวกตนยังผ่านความเห็นชอบอยู่ และเห็นว่าจะมีการเปลี่ยนระบบมาเป็นการใช้ลูกขุน ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้พิพากษาทำงานง่าย เหมือนกับการกำกับกฎ กติกา เท่านั้น เนื่องจากลูกขุนจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะทำหรือไม่ทำในคดีนั้นๆ แล้วถ้าทำแล้วใครจะแพ้จะชนะ ผู้พิพากษาจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าหากสภาฯเลิกด่าด้วยคำไม่สุภาพ หรือเลิกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ลักษณะเช่นนี้จึงสมควรที่จะสามารถสรรหาตุลาการฯได้ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องยึดโยงเราก็จะยึดโยง เพียงแต่บ้านเราใจร้อน คุณภาพนักการเมืองไม่ถูกใจ ทหารทนไม่ได้ก็ออกมาทุกที แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มันอาจจะดีกว่านี้ โดยปีนี้ก็ครบ 80 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ แต่ประเทศเรายังไม่ไปไหน ซึ่งตนก็ได้ไปประชุมศาลรัฐธรรมนูญที่ต่างประเทศ ตุลาการฯต่างประเทศก็จะบอกว่า น่าจะจัดประชาธิปไตยในประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ ซึ่งอยู่ในบางประเทศของทวีปแอฟริกา ตนจึงได้ออกความเห็นกับพรรคพวกว่า ประเทศไทย น่าจะไปสมัครบ้าง เพราะมีสภาพเหมือนประชาธิปไตยเพิ่งเกิดใหม่.

www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม