วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แม้เหตุระเบิดและเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล ในพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง...

แม้เหตุระเบิดและเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล ในพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่เชื่อได้ว่า...หลายฝ่ายหลายเสียงยังคงไม่แน่ใจว่าเมืองแห่งการลงทุนแห่งนี้ยังคงดึงดูดนักลงทุนได้อีกต่อไปและยังเรียกความเชื่อมั่นจากชาวบ้านได้อีกหรือไม่...

ที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้เกิดมหากาพย์เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเมืองอุตสาหกรรม เหตุการณ์ไฟไหม้ เหตุการณ์ก๊าซรั่วไหล เกิดขึ้นบ่อยครั้งซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนสร้างความเจ็บปวดให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับโรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 11 รายและมีผู้บาดเจ็บนับร้อย รวมไปถึงเหตุการณ์ก๊าซคลอรีนรั่วไหล ที่โรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีกัล ประเทศไทย จำกัด จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับร้อย เช่นกัน

หลายฝ่ายมองว่าปัญหาก๊าซรั่วและก๊าซระเบิดครั้งนี้เป็นความบกพร่องของโรงงานจนเกิดโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรง และบางฝ่ายมองว่าหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ตรวจสอบมาตรฐานโรงงานและการส่งสัญญาณเตือนภัยให้ชาวบ้านรับรู้ไม่ดีพอ

สุดท้ายที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ประชาชนและพนักงานบริษัทที่หาเช้ากินค่ำในบริเวณใกล้เคียงเป็นผู้รับเคราะห์ จากปัญหาการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งของภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ

จนมีคำถามคาใจจากหลาย ๆ คนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยมากหรือไม่ หลังจากสารพัดปัญหาเข้ามารุมเร้าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างหนักในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา

ทั้งกรณีของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้หน่วยงานของรัฐที่ถูกชาวบ้านฟ้องระงับโครงการลงทุนในพื้นที่นิคมฯ 76 โครงการที่เป็นกิจการรุนแรงต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มูลค่าลงทุน 3-4 แสนล้านบาท ในช่วงปลายปี 52 จนสร้างความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนทั่วโลกมาแล้วจากนั้นเกิดสารพัดม็อบที่เรียกร้องทางการเมืองในปี 53 ตามด้วยปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศในช่วงปลายปี 54 และนโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดในปี 55

คำตอบสั้น ๆ... ทุกกรณีตัวอย่างมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ก๊าซรั่วและก๊าซระเบิดจนมีการเสียชีวิตน่าเป็นห่วงมากที่สุดต่อการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต แม้หลายคนมองว่าคงไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม แต่กระทบการดำเนินงานของโรงงานที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น เช่น นักลงทุนไม่กล้าไม่ถือหุ้นร่วม หรือการดำเนินการของบริษัทสะดุด และถูกชาวบ้านฟ้องร้องให้เพิกถอนใบอนุญาตเอง เป็นต้น

แต่หากมองกลับกันว่ากรณีก๊าซระเบิดและก๊าซรั่วนี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ชาวบ้านไม่เอาโรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันมี 12 กลุ่ม ประกอบด้วย โรงงานสกัดน้ำมันจากพืช, โรงงานเคมีภัณฑ์ สารเคมีและวัตถุอันตราย,โรงงานปุ๋ยและกำจัดศัตรูพืช

โรงงานผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์พลาสติก, โรงงานสี น้ำมันชักเงา, โรงงานทำไม้ขีดไฟ หรือดอกไม้ไฟ, โรงงานกลั่นปิโตรเลียม, โรงงานปิโตรเคมี ถ่านหิน, โรงผลิตก๊าซ, โรงงานบรรจุก๊าซ, โรงงานห้องเย็น เฉพาะที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น, โรงงานผลิตกระสุนปืน และระเบิดหากชาวบ้านในฐานะเจ้าของพื้นที่ไม่เอาด้วยเชื่อว่านับจากนี้ไปโรงงานที่มีความเสี่ยงเหล่านี้คงเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ยาก ต่อให้ไปโรดโชว์ในต่างประเทศทุกวัน แถมยังมีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเท่าใด ก็ไม่มีประโยชน์ เห็นได้จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม้จะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและชาวบ้านมากเพียงใด แต่หลาย ๆ โรงที่เคยขออนุญาตตั้งในเมืองไทย สุดท้ายก็เป็นหมันยิ่งโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยแล้วคงไม่ต้องพูดถึง แม้เป็นโครงการที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำและทำให้ชาวบ้านได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกได้เป็นอย่างดีก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งปวงชาวบ้านคงเห็นความสำคัญของชีวิตและสิ่งแวดล้อมมากกว่าอื่นใด

โดยเฉพาะ “สารโทลูอีน” ซึ่งเป็นสารในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ ที่ระเบิดในโรงงานบีเอสทีฯ แม้ความอันตรายไม่เท่ากับนิวเคลียร์ แต่หากสารโทลูอีน เข้าร่างกายมนุษย์ในจำนวนมากภายในไม่กี่นาทีก็วิงเวียนและสลบได้ และอาจเสียชีวิตระหว่างสลบ เนื่องจากคนที่สลบยังหายใจสูดดมสารโทลูอีนเข้าไปเรื่อย ๆ สารพิษจะทำลายระบบทางเดินหายใจ จนหายใจไม่ออก

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีแต่ทดลองสารโทลูอีน ในตัวสัตว์ ซึ่งผลยืนยันออกมาแน่ชัดว่า หากสารตกค้างสะสมในร่างกายมีโอกาสก่อมะเร็งในร่างกาย และยังมีผลทำลายตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ สมอง ส่วนในสิ่งแวดล้อมนั้น ผลวิจัยชี้ชัดว่า “เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำ เป็นพิษต่อปลาและแพลงก์ตอนอย่างมาก”

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้นำรัฐบาลอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รวมถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และบรรดา ส.ส. ในพื้นที่ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะมองว่าหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อย ๆ ภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ในประเทศไทยลำบาก สุดท้ายการโรดโชว์ต่างประเทศตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาก็เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

ตอนนี้รัฐบาลทำได้แค่ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุมเข้มระบบการป้องกันสารเคมีรั่วไหล พร้อมทั้งขู่ปิดโรงงานหากมีเหตุการณ์ก๊าซรั่วก๊าซระเบิดเกิดขึ้นอีก รวมถึงการคาดโทษเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ด้วยในฐานะที่ไม่เข้มงวดในการตรวจสอบ

แต่มาตรการทั้งหมดที่ออกมาดูเหมือนคุ้น ๆ เพราะหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ในอดีตรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ก็มีมาตรการที่ฟังแล้วชาวบ้านสบายใจ สุดท้ายปัญหาทุกอย่างเกิดขึ้นซ้ำซากต่อเนื่อง

แค่เพียงไปปิดโรงงานเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่กล้า โดยเฉพาะโรงงานที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้บางแห่งก็เป็นโรงงานต่างชาติที่รัฐบาลอุตส่าห์ไปโรดโชว์มา แถมยังเกิดเหตุการณ์บ่อยครั้ง สุดท้ายโรงงานดังกล่าวก็ยังดำเนินกิจการตามปกติ แต่หากเป็นโรงงานขนาดเล็กของคนไทยเชื่อว่าคงถูกปิดกิจการไปนานแล้ว

อยากให้รัฐบาลและเอกชนมาจับมือกันอย่างจริงจังในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลและระเบิดเกิดขึ้นอีก ไม่ใช่ปล่อยให้โรงงานทำผิดซ้ำซาก เพราะมิเช่นนั้นแล้วหากชาวบ้านทนไม่ได้ก็จะลุกฮือมาต่อต้าน เชื่อว่าจะเกิดผลเสียต่อประเทศอย่างมหาศาล.

มนัส แวววันจิตร



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม