โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร สำนักข่าวอิศรา
น่าจะโล่งอกกันทุกฝ่ายกับท่าทีของ นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ที่กล่าวระหว่างเดินทางเยือนประเทศไทยและลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า โอไอซีไม่ได้คิดแทรกแซงกิจการภายในของไทยในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ทั้งยังไม่สนับสนุนให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน และยังประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงทุกฝ่ายที่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตด้วย
ท่าทีล่าสุดของโอไอซี น่าจะเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นแรกๆ เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมาจากการประสานข้อมูลกันค่อนข้างดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ผู้แทนโอไอซีเป็นกังวล นั่นก็คือการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพราะมองว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของการร้องเรียนเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 7 ปีแล้ว โดยยกเลิกไปเพียงอำเภอเดียวจาก 33 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
อีกเรื่องหนึ่งที่โอไอซีให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้กฎหมายพิเศษ คือการบริหารจัดการคดีความมั่นคงต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ เมื่อพลิกดูข้อมูลคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบปัญหาหลักๆ 2 ประการตรงตามที่โอไอซีแสดงความเป็นห่วง
หนึ่ง คือ ความล่าช้าในกระบวนพิจารณา ซึ่งบางคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นใช้เวลานานถึง 3-5 ปี และส่วนใหญ่จำเลยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี ทำให้ต้องถูกคุมขัง สูญเสียอิสรภาพอย่างยาวนาน
สอง คือ คดีความมั่นคงจำนวนมากศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
ปัญหาหลักทั้ง 2 ปัญหา เชื่อมโยงทั้งกับกระบวนพิจารณา การแสวงหาพยานหลักฐาน และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ กล่าวคือ ในพื้นที่มีการออกหมายจับและหมายเรียกนับถึงสิ้นปี 2554 รวมทั้งสิ้น 8,807 หมาย แยกเป็น "หมาย ฉฉ." ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 4,637 หมาย และหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งเป็นกฎหมายปกติบังคับใช้ทั่วประเทศ จำนวน 4,170 หมาย
อย่างไรก็ดี การจับกุมตามหมายกลับมีจำนวนไม่มากนัก โดยหมาย พ.ร.ก. (หรือหมาย ฉฉ.) จับกุมตัวได้ 3,507 ราย ส่วนหมาย ป.วิอาญา จับกุมตัวได้ 2,171 ราย ขณะที่ยอดหลบหนี (หักจำนวนผู้ต้องหาที่เสียชีวิตและถอนฟ้องด้วยเหตุอื่นออกแล้ว) มีจำนวน 1,049 รายสำหรับหมาย พ.ร.ก. คิดเป็นร้อยละ 22.62 และ 1,758 รายสำหรับหมาย ป.วิอาญา คิดเป็นร้อยละ 42.16
แต่กระนั้น การจับกุมโดยหมาย พ.ร.ก.ก็ถูกร้องเรียนอยู่เนืองๆ ว่าเป็นการจับกุมโดยมิชอบ ไม่มีการตั้งข้อหา และฝ่ายความมั่นคงไม่สามารถพิสูจน์ข้อหาหรือความผิดได้ ทำให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกเชิญตัวต้องถูกคุมขังตามอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คราวละ 7 วัน ขยายเวลาได้คราวละ 7 วัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 30 วัน
ผู้ถูกเชิญตัวจำนวนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อถูกคุมตัวครบกำหนดตามกฎหมาย กลายเป็นข้อครหา "ถูกขังฟรี" ขณะที่อีกจำนวนมากถูกคุมตัวต่อตามหมายจับ ป.วิอาญา และฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทว่าคดีจำนวนไม่น้อยศาลก็ยกฟ้องอีก
เมื่อพิจารณาถึงปริมาณคดีความมั่นคงในภาพรวม ตั้งแต่ต้นปี 2547 ถึงสิ้นปี 2554 ซึ่งแยกเหตุขัดแย้งส่วนตัวออกไปแล้ว พบว่ามีทั้งสิ้น 8,247 คดี จากจำนวนคดีอาญาทั้งหมด 92,840 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.88 เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิดเพียง 1,946 คดี หรือร้อยละ 23.6 และไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดถึง 6,301 คดี หรือร้อยละ 76.4
ในจำนวนคดีความมั่นคงทั้งหมด ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ระบุว่า มีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 262 คดี จำเลย 484 คน แยกเป็น ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ 143 คดี (ร้อยละ 54.58) จำเลย 243 คน และยกฟ้อง 119 คดี (ร้อยละ 45.42) จำเลย 241 คน แต่ข้อมูลนี้น่าจะเป็นข้อมูลเก่าแล้ว
เพราะมีข้อมูลจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ระบุว่า เฉพาะปี 2554 ปีเดียว มีคดีที่ขึ้นสู่ศาลและศาลมีคำพิพากษาจำนวน 214 คดี พิพากษายกฟ้องมากถึง 168 คดี คิดเป็นร้อยละ 78.50 พิพากษาลงโทษเพียง 40 คดี คิดเป็นร้อยละ 18.69 นับเป็นสถิติการยกฟ้องสูงที่สุดนับตั้งแต่มีสถานการณ์ไฟใต้เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ปริมาณคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องในปี 2554 พุ่งสูงขึ้นจากปี 2553 ซึ่งตามตัวเลขก็มีสถิติที่สูงอยู่แล้ว กล่าวคือ ในปี 2553 มีคดีที่ศาลพิพากษา 106 คดี ยกฟ้อง 79 คดี คิดเป็นร้อยละ 74.53 พิพากษาลงโทษ 23 คดี คิดเป็นร้อยละ 21.68
ขณะที่สถิติการยกฟ้องคดีในปี 2553 ก็สูงขึ้นจากปี 2552 กล่าวคือ ในปี 2552 มีคดีที่ศาลพิพากษาจำนวน 94 คดี ยกฟ้อง 60 คดี คิดเป็นร้อยละ 63.83 พิพากษาลงโทษ 30 คดี คิดเป็นร้อยละ 31.91
ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีเพียง 2 ปีเท่านั้นที่คดีความมั่นคงมีอัตราส่วนที่ศาลพิพากษาลงโทษเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 นั่นคือปี 2550 มีคดีที่ศาลพิพากษาจำนวน 36 คดี ยกฟ้อง 11 คดี คิดเป็นร้อยละ 30.56 พิพากษาลงโทษ 25 คดี คิดเป็นร้อยละ 69.44 อีกปีหนึ่งคือปี 2551 มีคดีที่ศาลพิพากษาจำนวน 57 คดี ยกฟ้อง 26 คดี คิดเป็นร้อยละ 45.61 พิพากษาลงโทษ 29 คดี คิดเป็นร้อยละ 50.88
ส่วนปี 2549 มีคดีที่ศาลพิพากษาทั้งสิ้น 14 คดี ยกฟ้อง 8 คดี คิดเป็นร้อยละ 57.14 พิพากษาลงโทษ 6 คดี คิดเป็นร้อยละ 42.86
จากสภาพการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติดังที่แจกแจงมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้พยายามแก้ไขปัญหา และมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้นบ้างแล้ว อาทิ
- สำนักงานอัยการเขต 9 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้นโยบายแก่พนักงานอัยการว่า ไม่ควรสั่งฟ้องคดีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะเอาผิดได้ และให้เลิกแนวคิดที่ว่า "เอาตัวไว้ในกระบวนการยุติธรรมก่อน" ด้วยการสั่งฟ้องขึ้นศาลไป ซึ่งจากนโยบายใหม่ทำให้ในระยะหลังมีสถิติคดีที่พนักงานอัยการมีความเห็น "สั่งไม่ฟ้อง" สูงขึ้น และก็ช่วยให้ผู้ต้องหาได้อิสรภาพเร็วขึ้น
- กระทรวงยุติธรรมและ ศอ.บต.ได้ทำความตกลงเป็นการภายในกับศาล ให้กระบวนพิจารณาคดีความมั่นคงในศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาภายใน 1 ปีครึ่งนับตั้งแต่วันฟ้อง
- ในส่วนของการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน ให้มุ่งความสำคัญไปที่หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ศอ.บต.ได้ทำข้อเสนอแนะไปยัง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเชิงป้องกัน (เช่น ตั้งด่าน) และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เพื่อจับกุม
แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะเพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของภารกิจดับไฟใต้หรือไม่ เป็นเรื่องทุกฝ่ายต้องเร่งพิจารณา ไม่ใช่ปล่อยให้องค์กรต่างประเทศต้องมาชี้นิ้วบอกเรา!
www.thaipost.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น