วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

'โต้ง'เห็นควรล้มประกวดราคารถไฟฟ้าสีแดง

"โต้ง" เห็นควรยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีแดง เร่งเดินหน้าเปิดประมูลใหม่เบิกเงินกู้จากไจก้ากว่า 7 หมื่นล้านภายในปีนี้ มั่นใจไร้ปัญหา...

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงการคลังเข้าหารือกับ Mr.Akihiko Tanaka ประธานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า ซึ่งกระทรวงการคลังยังคงยืนยันถึงความต้องการเงินกู้จำนวนกว่า 70,000 ล้านบาท จากไจก้า เพื่อนำมาดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ภายใต้การดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยได้ลงนามในสัญญาเงินกู้มาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2552 แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเบิกจ่ายเงินกู้ได้ เนื่องจากติดปัญหาขั้นตอนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคตามแนวสายทาง โดยเฉพาะการรื้อย้ายแนวท่อน้ำมันของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด รวมถึงเรื่องคุณสมบัติของบริษัทที่เข้ามาประมูลโครงการ ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าควรมีการยกเลิกการประกวดราคาโครงการฯ ในสัญญาที่ 3 ซึ่งเป็นงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมตู้รถไฟฟ้ามูลค่า 26,272 ล้านบาท และเร่งเดินหน้าเปิดประมูลใหม่

นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเดินทางโครงการข้างต้นได้ในเร็วๆ นี้ และมั่นใจว่าจะสามารถเบิกจ่ายเงินกู้จากไจก้าได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่ง ญี่ปุ่น หรือเจบิก ซึ่งทั้งเจบิกและไจก้าแสดงความต้องการที่จะให้ความร่วมมือในด้านเงินกู้ สำหรับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส ซึ่งถือเป็นโครงการที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระหว่าง ประเทศไทยกับสมาชิกจีเอ็มเอสได้ในอนาคตอีกด้วย โดยได้รับข้อเสนอจากภาคธุรกิจเอกชนของญี่ปุ่น เจบิก และไจก้า ให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนและอำนายความสะดวกให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของ ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนและขยายธุรกิจในประเทศไทย มีทุนประเดิมจากทางญี่ปุ่น 3,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำไปให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย โดยมีหน่วยงานราชการของรัฐบาลไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนด้วย

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นำข้อเสนอดังกล่าวกลับไปพิจารณารายละเอียดต่อไป ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นการยืนยันให้เห็นว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังคงมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยเช่นเดิมอีกด้วย.

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม