วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โดย...ปริญญา ชูเลขา ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย...

โดย...ปริญญา ชูเลขา

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย เป็นปัญหาที่ท้าทายความจริงใจทุกรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ที่ผ่านมาแนวโน้มดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยที่ยังไม่ดีขึ้น

โดยในปี 2550-2555 ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยอยู่ในช่วง 3.3-3.5 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และมีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทราบปัญหาเหล่านี้ดี และกำลังจะลงมาเป็นเจ้าภาพปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ และกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อเป็นการประกาศยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและแผนงานเชิงรุกของรัฐบาล โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงระดับกรมและจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน คณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทย ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศ และผู้แทนหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย เข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อประกาศสงครามต่อต้านการทุจริตให้ประชาคมโลกเห็น

รัฐบาลกำหนดวาระและภารกิจมากมาย เพื่อโชว์ว่าได้ป้องปรามและปราบคอร์รัปชัน ไม่ว่าการเตรียมเปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (วอร์รูม) ที่สายตรงมายังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีสามารถโทรศัพท์สั่งการได้ทันที และยังมอบหมายให้แต่ละกระทรวงทบวงกรมทั้ง 17 กระทรวง 66 หน่วยงานภาครัฐทั้งหมด นำเสนอโครงการป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตคอร์รัปชันขึ้นในองค์กร ตั้งเป้าต้องทำให้ได้ภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี พร้อมกับต้องรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี นับเป็นการประกาศสงครามต่อต้านการคอร์รัปชันครั้งแรกในรอบรัฐบาลได้ทำงานบริหารประเทศครบ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาแล้ว ช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐมีได้ 3 ทาง ที่มักพบเป็นประจำคือ 1.โกงงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งแต่ละปีเป็นจำนวนนับล้านล้านบาท เช่น ในปี 2555 ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งงบประมาณได้รั่วไหลจากการประมูลงานในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือสัญญาสัมปทานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่เรียกกันว่า ฮั้ว

2.โกงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า ภูเขา หรือทะเล เพราะทรัพยากรเหล่านี้อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการที่จะคอยปกป้องดูแล เนื่องจากเป็นสมบัติของชาติ

และ 3.โกงภาษี ซึ่งเป็นเงินที่เรียกเก็บจากพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปใช้บริหารประเทศ

ในขณะที่ขบวนการโกงทั้งสามช่องทางไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงลำพัง แต่เป็นการร่วมมือหรือสมคบคิดกันในการทุจริต โดยมีการตกลงผลประโยชน์กันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายการเมือง และภาคเอกชน

ความเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่รัฐบาลกำลังตื่นตัวโหมโรงเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ของใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ภาคเอกชนรวมกลุ่มกันจัดตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยในการแถลงเปิดตัวเครือข่ายดังกล่าว ได้ชี้ให้เห็นว่าขบวนการทุจริตมีฝ่ายการเมืองเป็นตัวละครสำคัญ ผ่านการให้ข้อมูลต่อสาธารณชนว่า ในปี 2553 พบว่า มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับนักการเมืองและข้าราชการเป็นจำนวนเงินสูงถึง 2 แสนล้านบาท จึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง

ดังนั้น ต้นตอการทุจริตคอร์รัปชันจึงไม่ได้เกิดเฉพาะฝ่ายข้าราชการเท่านั้น แต่รวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย ในขณะที่รัฐบาลกำลังประกาศนโยบายต่อต้านการทุจริต โดยคาดหวังจะโชว์เป็นผลงานชิ้นโบแดง เหมือนกับนโยบายปราบปรามยาเสพติด แต่ใช่ว่ารัฐบาลจะมุ่งเน้นแต่การปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเพียงลำพังจะประสบผลสำคัญ เพราะแท้จริงแล้วรัฐบาลในฐานะฝ่ายการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาฝ่ายข้าราชการประจำด้วยซ้ำ จึงสมควร “ปัดกวาด” บ้านตัวเองให้สะอาดเรียบร้อยก่อนเช่นกัน แล้วค่อยออกมา “ปัดกวาด” บ้านของคนอื่น ด้วยการเอาจริงเอาจังกับการดำเนินคดีทุจริตที่มีนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นเข้าไปพัวพัน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือคดีความภาษีของญาติพี่น้อง ซึ่งทำให้รัฐสูญเงินงบประมาณแผ่นดินหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งนโยบายประชานิยมของรัฐบาลบางประเภทก็เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนของรัฐบาล เช่น โครงการบ้านหลังแรก หรือโครงการรับจำนำข้าวที่พบว่ามีการทุจริตมหาศาล แต่ก็ไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษให้เป็นแบบอย่างในการปราบโกง

รัฐบาลทราบดีว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกรัฐบาลจอดก่อนถึงฝั่ง คือ การทุจริต ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นและทำลายภาพลักษณ์รัฐบาล ซึ่งรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่พ้นจากอำนาจก็เพราะปัญหาการคอร์รัปชัน แม้ว่า 9 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลนี้จะยังไม่มีข่าวเรื่องการทุจริตใหญ่โต แต่ในอนาคตระบบคอร์รัปชันที่ทำงานอยู่ในฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และพ่อค้าเอกชน จะปูดออกมาเรื่อยๆ หากเกิดขึ้นกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อใด หรือหากฝ่ายการเมืองเข้าไปทุจริตหนักจนเป็นข่าว เมื่อนั้นก็ทำให้รัฐบาลสั่นคลอนได้

การจัดกิจกรรมสร้างภาพปราบโกงครั้งนี้ แม้จะเป็นเชิงรุกเพื่อกระตุ้นเตือนข้าราชการและได้ภาพกับประชาชน แต่ลำพังเพียงการเปิดแถลงข่าว จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือตั้งวอร์รูมสายตรงมายังตึกไทยคู่ฟ้า คงไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะกล้าเชือดโชว์คดีนักการเมืองทุจริตได้หรือไม่ต่างหาก

และหากทำได้จริงจะเป็นการเริ่มต้นสร้างบรรยากาศความน่าเชื่อถือในการปราบปรามการทุจริตให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

และจะทำให้รัฐบาลอยู่อย่างมั่นคง...




www.posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม