การเปิดประเทศของ "พม่า" หลังการเลือกตั้ง นับเป็นแรงดึงดูดนักลงทุนจากทุกภูมิภาคทั้งใกล้และไกล ในการเข้าไปช่วงชิงขุมทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำนวนมหาศาลที่ยังคงรักษาไว้ได้ เนื่องจากการปิดประเทศมาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในนักลงทุนต่างชาติที่รัฐบาลพม่าเปิดให้เข้าไปลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกท์) ก็คือ บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) นักลงทุนสัญชาติไทย โดยเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ จ.ทวาย ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของพม่า ซึ่งประเมินกันว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก หากไทยมีการวางแผนพัฒนาและเชื่อมโยงการค้าการลงทุนเข้าด้วยกันได้ เนื่องจาก จ.ทวายอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 320 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่กี่ชั่วโมง หลังจากถนนไฮเวย์แล้วเสร็จ รวมทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจจากพม่ามายังท่าเรือแฉลมฉบัง และยังเป็นการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ชี้ทวายประตูการค้าสู่โลกตะวันตก
"อนันต์ อัมระปาล" รองประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากลงนามกรอบข้อตกลงระหว่าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ การท่าเรือแห่งสหภาพพม่า และประเทศไทย ในการให้สัมปทานกับบริษัทเป็นเวลา 75 ปี ในการพัฒนา จากนั้นในเดือนมกราคม ปี 2554 รัฐบาลพม่าได้ออกประกาศกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน 2554 รัฐบาลพม่าได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ทำหน้าที่ดูแลโครงการทั้งหมด พร้อมทั้งจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและวางระบบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน
"พื้นที่ทวายนับได้ว่ามีความเหมาะสมที่สุดในการพัฒนาให้เป็นท่าเรือและเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของภูมิภาคนี้ เพราะมีพื้นที่ถึง 250 ตร.กม. หรือประมาณ 1.5 แสนไร่ มีแนวเกาะป้องกันคลื่นลม และมีระดับน้ำที่เหมาะสมกับการสร้างท่าเรือน้ำลึก และเป็นประตูการค้าไปสู่โลกตะวันตก เช่น อินเดีย แอฟริกา และยุโรป" อนันต์ระบุ
นอกเหนือจากสัมปทานก่อสร้างแล้ว บริษัทยังจัดตั้งบริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ดีดีซี) ซึ่งอิตาเลียน-ไทยฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 75% และนักลงทุนพม่าถือหุ้น 25% โดยดีดีซีจะเข้ามารับผิดชอบในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก ถนนภายในนิคม และถนนที่เชื่อมต่อมายังประเทศไทย น้ำประปา ไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และตัวเมืองหลัก ซึ่งในเฟสแรกจะประกอบด้วยถนนไฮเวย์เชื่อมประเทศไทยกับทวาย โรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก และที่พักอาศัย จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2558 และเริ่มเปิดดำเนินงานได้ในปี 2559
ท่าเรือใหญ่กว่ามาบตาพุด10เท่า
ด้านนายอนุสรณ์ มะกรครรภ์ ผู้จัดการโครงการด้านถนน กล่าวว่า ในปลายปีนี้จะทำการก่อสร้างถนนเชื่อมกับประเทศไทยระยะทาง 132 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลา 4 ปี โดยระยะแรกจะเป็นถนน 4 เลน 2 ช่องจราจรไป-กลับ จากนั้นจะขยายไปเป็น 8 เลนตามการขยายตัวของนิคม และจะมีการสร้างอุโมงค์ลอดภูเขายาว 750 เมตร และการก่อสร้างทางยกระดับประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อเลี่ยงเส้นทางที่ลาดชัน ซึ่งคาดว่าในการก่อสร้างถนนจะใช้งบทั้งสิ้น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะแล้วเสร็จในปี 2559
ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้น นายสุรินทร์ วิเชียร ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จะร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการเข้ามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการดำเนินงานก่อสร้าง ใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ และดีเซล คาดว่าจะเริ่มติดตั้งได้ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้ ระยะที่ 2 จะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มไปถึง 150 เมกะวัตต์ ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ซึ่งจะใช้เวลาปรับปรุงไม่มาก เพราะ กฟผ.มีเครื่องจักรต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว โดยจะมีการสร้างแท็งก์เก็บแอลเอ็นจีเพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้า ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในเฟสที่ 3 จะเป็นการก่อสร้างเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ กำลังผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดให้เอกชนไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้านี้
สำหรับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก อิตาเลียน-ไทยฯ จะเข้ามาเป็นผู้รับเหมาจากดีดีซี โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ในเฟสแรกจะเสร็จและเปิดดำเนินงานในปี 2559 และดีดีซีจะเป็นเจ้าของบริหารท่าเรือ ซึ่งในเฟสแรกจะใช้งบลงทุน 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ 4 ท่า ท่าเทกอง 8 ท่า ส่วนเฟส 2 และ 3 จะมีท่าเรือคอนเทนเนอร์ 8 ท่า ท่าเรือเทกอง 28 ท่า ท่าเรือของโรงงานปุ๋ย 1 ท่า ท่าเรือขนส่งถ่านหิน 2 ท่า และท่าเรือขนส่งเหล็ก 5 ท่า จะใช้งบลงทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ท่าเรือทั้งหมดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งท่าเรือแห่งนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าท่าเรือมาบตาพุดของไทยประมาณ 10 เท่า และท่าเรือทั้ง 3 เฟสนี้จะใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 10 ปี
ทุนไทย-ต่างชาติสนใจร่วมทุน
แหล่งข่าวจากบริษัทอิตาเลียน-ไทยฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีบริษัทผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยหลายแห่งสนใจจะร่วมเป็นพันธมิตรของดีดีซี เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยจะเช่าพื้นที่พัฒนานิคม และแบ่งรายได้ให้แก่ดีดีซี ซึ่งก็จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามา เพราะบริษัทเหล่านี้มีฐานลูกค้าที่เข้ามาตั้งโรงงานภายในนิคมเป็นจำนวนมาก ทำธุรกิจร่วมกันมานานจนเกิดความไว้ใจที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในพื้นที่ทวาย ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็สนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เนื่องจากทวายมีข้อได้เปรียบในเรื่องของที่ดินราคาถูก แรงงานราคาถูก และสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ หรือแม้แต่บริษัทขนาดกลางและเล็กของไทยก็สนใจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งมีความได้เปรียบเรื่องตลาด วัตถุดิบ และแรงงาน
"ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ต่างก็สนใจจะเข้ามาลงทุนโครงการนี้ แต่เนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวชาญในโครงการขนาดใหญ่จึงได้ดำเนินโครงการนี้ และสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลพม่า ขณะที่รัฐบาลไทยก็สนับสนุนเต็มที่ รัฐบาลพม่าจึงไว้ใจ รวมทั้งพม่ายังมองว่าไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านไม่มีทางหนีหายไปไหนได้" แหล่งข่าวกล่าวและว่า เงินทุนก็เป็นปัญหาสำคัญ เพราะโครงการนี้มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็แก้ไขได้ไม่ยาก เพราะมีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติจำนวนมากที่เสนอตัวเข้าร่วมลงทุน แต่บริษัทจะเลือกผู้ร่วมลงทุนที่เหมาะสมที่สุด ส่วนแหล่งเงินกู้มีทั้งเอ็กซิมแบงก์ เจบิก และเอดีบี แต่จะต้องดูเงื่อนไขและดอกเบี้ยด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญของโครงการทวายเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของไทยด้วย เนื่องจากขณะนี้ไทยไม่มีพื้นที่ในการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้น การลงทุนที่ทวายก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ด้านนายติง หม่อง ส่วย ประธานคณะกรรมการร่วมดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมทวาย กล่าวว่า ขณะนี้มีทั้งนักลงทุนจากญี่ปุ่นและอาเซียนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็ก เพราะทวายมีจุดแข็งในเรื่องการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นทางผ่านที่สำคัญ และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังฝั่งตะวันตก โดยรัฐบาลพม่าพยายามให้การก่อสร้างโครงการนี้กระทบประชาชนให้น้อยที่สุด และต่อรองค่าชดเชยในการย้ายประชาชนออกนอกพื้นที่ให้สมเหตุสมผล ซึ่งล่าสุดได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวบ้านไปแล้ว 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
----------
(หมายเหตุ : สำรวจ 'ท่าเรือ-นิคมฯทวาย' ไทยพร้อมสานสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจ - รายงานพิเศษ : โดย ... วัชระ ปุษยนาวิน)
----------
www.komchadluek.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น