วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เสนอตั้งศาลพิเศษเชือดโชว์ผู้นำโกง

"ตัวอย่างในประเทศไทยมีท่าเรือกี่แห่งไม่ได้ใช้งาน มีสนามบินกี่จังหวัดที่สร้างแล้วปิดไป ถนนกี่แห่งสร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ นักการเมืองผลักดันสร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อการหาเสียง หรือหวังได้เงินตอบแทนเพื่อสร้างอำนาจเป็นผู้บริหารประเทศ"

โดย.......ทีมข่าวการเมือง

ภาคเอกชนเสนอตั้งศาลพิเศษเร่งตัดสินคดีเชื่อทำได้จะมีผู้นำโกงโดนลงโทษภายใน 2-3 ปี เหมือนไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ตบหน้าเวิอร์คช็อปรัฐบาลอยากเห็นครม.ลงนามร่วมเรียกความมั่นใจมากกว่าแค่ถ่ายรูปเปิดงานแล้วจากไป

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” จัดขึ้นที่หอประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นให้นโยบายปราบทุจริตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์นับตั้งแต่บริหารบ้านเมืองมาเป็นเวลา 9 เดือน มีการเชิญคณะรัฐมนตรี (ครม.) หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง

แม้ช่วงบ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและครม. จะไม่อยู่ร่วมรับฟังข้อคิดเห็น รวมถึงผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศทยอยเดินทางกลับ ทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมลงจากเมื่อเช้า

แต่บรรยายการประชุมช่วงบ่ายกลับเป็นเป็นด้วยความเข้มข้น เมื่อประมณฑ์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ได้สรุปผลสำรวจจากภาคต่างๆ ทั้งองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล ที่สรุปสถิติปัญหาทุจริตในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง และถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ไทยตกต่ำกว่าเพื่อนบ้าน

เช่นเดียวกับผลสำรวจเยาวชนที่มีความคิดว่ายอมรับได้กับการโกง สะท้อนให้เห็นการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา และยังเป็นที่น่าตกผู้ประกอบธุรกิจยอมรับต้องจ่ายใต้โต๊ะ 10-20 เปอร์เซนต์

ประมณฑ์ บอกว่า เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลมีสัญญาณในการปราบปรามการคอร์รัปชั่น แต่น่าเสียใจ ที่ครม. ที่มาร่วมเปิดงานในตอนเช้ามาถ่ายรูปเท่านั้น กลับไม่มีการร่วมกันลงนามต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพราะถ้าลงนามจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีในการให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาล

ประมณฑ์ แสดงความเป็นห่วงการทุจริตเชิงนโยบายมีมากขึ้น มีการทำโครงการสร้างสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง บางอย่างไม่ได้ประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง

“ ตัวอย่าง ในประเทศไทยมีท่าเรือ กี่แห่งไม่ได้ใช้งาน มีสนามบินกี่จังหวัด ที่สร้างแล้วปิดไป ถนนกี่แห่งสร้างแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ นักการเมืองผลักดันสร้างสิ่งเหล่านี้เพื่อการหาเสียง หรือหวังได้เงินตอบแทนเพื่อสร้างอำนาจเป็นผู้บริหารประเทศต่อไป ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดมากขึ้น ไม่หยุดยั้งพวกนี้ เงินทุกบาททุกสตางค์ซึ่งก็คือภาษีประชาชนที่เสียไป เราก็เสียหายไปด้วย” ประมณฑ์ กล่าว

ประมณฑ์ ยังให้ติดตาม กรณีงบประมาณการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท หลายโครงการจัดซื้อวิธีพิเศษ แม้มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จึงต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบนี้ แต่ก็เป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตมากขึ้น นอกจากงบฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ยังมีงบเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกหลายแสนล้านบาท ในการสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเดิมงบลงทุนน้อยกว่างบประจำ แต่คราวนี้งบลงทุนที่มีอยู่น้อยแล้วมีการทุจริตอีก จากงบ 4-5 แสนล้านบาททุจริต 10-20 เปอร์เซนต์ แล้วคุณภาพชีวิตประชาชนจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ กระบวนการเอาผิดนำคนมาลงโทษโดยเฉพาะฝ่ายบริหารระดับสูงของประเทศไทย เป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่เหมือนอย่างประเทศไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ประธานาธิบดีของเขาได้รับการลงโทษเมื่อพิสูจน์ว่าทุจริตและศาลตัดสิน แต่ของประเทศไทยมีกี่ครั้งได้รับการลงโทษ

“ของประเทศไทยกว่าจะตัดสินลงโทษ ต้องใช้เวลา 10-30 ปี กระบวนการก็ยังไม่เสร็จสิ้น คู่กรณีก็เสียชีวิตไปก่อน ต้องมารอ 10-20 ปีอุทธรณ์ฏีกาคนก็ไม่สนใจแล้ว อีกทั้งกระบวนการของบ้านเราทราบดีมีพรรคพวกช่วยเหลือกัน ลูบหน้าปะจมูก จะลงโทษอะไรก็วิ่งเต้นช่วยเหลือกัน ผมอยากเสนอให้มีการตั้งศาลพิเศษพิจารณาคดีทุจริต ตัดสินให้เสร็จภายใน 2-3 ปี” ยประมณฑ์ กล่าว

ประมณฑ์ กล่าวว่า สูตรสำเร็จในการปราบปรามการคอร์รัปชั่นนั้น รัฐบาลต้องเป็นผู้นำ ประชาชนมีส่วนร่วม องค์กรอิสระทำหน้าที่ติดตาม ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตั้งแต่ภาครัฐมีการส่งสัญญาณแล้ว ภาคเอกชน ประชาชนก็มีความพร้อม เชื่อว่า คนโกงจะไม่มีที่ยืนในแผ่นดินนี้

ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า นายกฯยิ่งลักษณ์ ทำพิธีประกาศยุทธศาสตร์ปราบการทุจริตแห่งชาติอย่างเป็นทางการ โดย นายกฯ ประกาศว่า จะสร้างผลงานลดสถิติการทุจริตในประเทศให้ได้ หลังจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล สรุปดัชนีชี้วัดการทุจริตตลอด 18 ปีปีที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาทุจริตไม่ได้ดีขึ้น ประเทศไทยมีคะแนน 3.3-3.5 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติมีการทุจริตสูงกว่าในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วย

โอกาสนี้ นายกฯเสนอ 1 หน่วยงาน 1 ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ ด้วยการให้เวลาภายใน 1 เดือนเริ่มจากวันนี้ ให้ 159 ส่วนราชการ 76 จังหวัด เฟ้นหาหน่วยงานที่สามารถจัดระบบการป้องกันปราบปรามทุจริตแห่งละ 1 หน่วยงาน หรือ 235 หน่วย เสนอเข้ามายังนายกฯ ภายใน 1 เดือน เพื่อเป็นตัวอย่างในการให้หน่วยงานอื่นนำไปปฏิยัติด้วย

ขณะเดียวกัน นายกฯได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นทางการ ศูนย์ดังกล่าวจะรับเรื่องราวร้องเรียทางทุจริต โดยเปิดสายด่วน 1206 รับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต รายงานผลตรงศูนย์บัญชาการนายกฯ

หลังจากนายกฯกล่าวเปิดประชุมช่วงเช้า ได้มาเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ฯ และร่วมรับประทานอาหารว่างในเวลา 11.15 น. ซึ่งใช้เวลาไม่นานนักก็ออกจากงาน ทั้งที่ช่วงเวลาเดียวบนเวที มีกำหนดบรรยายพิเศษต่อเนื่องเริ่มด้วยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) บรรยายพิเศษ เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ตามด้วย การนำเสนอตัวอย่างต่างประเทศที่เป็นเลิศ ในการแก้ไขปัญหาทุจริต โดย Mr. Chua Cher Yak อดีตผู้อำนวยการ Corrupt Practices Investigation Bureau ( CPIB )

แผนรุกภาคีเครือข่ายปราบโกงภาคเอกชน

*โครงการฝีกอบรมหมาเฝ้าบ้าน 2 รุ่น รุ่นแรก “หมาเห่า” อบรมเห็นความผิดปกติเห่า ร้องเรียนไว้ก่อน รุ่นสอง “หมากัด” อบรมทำงานตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกส่งหน่วยงานปราบทุจริตดำเนินการ



www.posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม