วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารกสิกรไทยประกาศทิศทางธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งสู่ตลาดอาเซียน...

ปีนี้เป็นปีแรกที่ธนาคารกสิกรไทยประกาศทิศทางธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งสู่ตลาดอาเซียน โดยมียุทธวิธีร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าการตั้งสาขา ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

ธนาคารกสิกรไทย เป็นแบงก์ใหญ่ 1 ใน 4 ของประเทศไทย ที่มีทั้งสินทรัพย์และรายได้สูง เช่นเมื่อปี 2554 มีรายได้ 148,873 ล้านบาท กำไร 24,225 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 1,722,939 ล้านบาท ซึ่งรายได้และกำไรล้วนแต่ได้มาจากการทำธุรกิจภายในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่ต่างประเทศมีรายได้ร้อยละ 10

การยึดพื้นที่ให้บริการทางด้านการเงินในประเทศไทยของธนาคารกสิกรไทยจึงถือได้ว่ามั่นคงและแข็งแรง จนกระทั่งทำให้ธนาคารเริ่มขยายบริการไปประเทศจีน ตามนโยบายของบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ซึ่งมีเชื้อสายไทย-จีน

ธนาคารกสิกรไทยสามารถเข้าไปเปิดสาขา 1 แห่ง และสำนักงานผู้แทนอีก 3 แห่ง คือ สาขาในเซินเจิ้น และสำนักงาน ตัวแทนในเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และคุณหมิง

แต่เมื่อ 2-3 ปีให้หลัง บัณฑูรเริ่มสนับสนุนผู้บริหารรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาบริหารงาน จึงทำให้มีการปรับวิสัยทัศน์การลงทุน ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่เริ่มกล่าวถึงโอกาสกันมาก

จึงทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาธนาคารกสิกรได้ประกาศยุทธศาสตร์ไปสู่ตลาดอาเซียนอย่างแข็งขัน โดยมีเป้าหมายปักธง เป็นประเทศแรกๆ

วิธีการเข้าสู่ตลาดอาเซียนของแบงก์ กสิกรไทยคือการสร้างเครือข่ายพันธมิตร มากกว่าการเปิดสาขาเหมือนที่ผ่านมา โดย เลือกวิธีการร่วมกับสถาบันการเงินท้องถิ่น เหมือนเช่นล่าสุดได้เซ็นสัญญากับอกริแบงก์ (AGRI BANK) หรือ Vietnam Bank of Agriculture and Rural Development แบงก์อันดับหนึ่งถือหุ้นโดยรัฐบาลเวียดนาม 100 เปอร์เซ็นต์ มีเครือข่าย 2,300 แห่ง ให้บริการด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารได้ร่วมมือกับเวียตตินแบงก์ (VietinBank) ซึ่งรัฐบาลของเวียดนามถือหุ้น 80 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันธนาคารมีพันธมิตรในอาเซียนทั้งหมด 4 ประเทศ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม ธนาคารมีเป้าจะร่วมมือกับพันธมิตรให้ ครบ 9 ประเทศ ในปี 2555 นี้

การรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนของธนาคารกสิกร โดยเลือกที่จะร่วมมือกับพันธมิตรมากกว่าจะเข้าไปตั้งสาขานั้น เกิดจากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตลาดอาเซียนที่จะหลอมรวมกันให้เป็นตลาดหนึ่งเดียว (one market) โดยมีประชากรร่วม 600 ล้านคน

โดยธนาคารมองว่าความร่วมมือของ 10 ประเทศ เพื่อเปิดเสรีทางด้านการเงินยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบ กติกา แม้แต่บางประเทศบอกว่าได้เปิดให้สถาบันการเงินต่างชาติเข้าไปให้บริการการเงินแล้วก็ตาม แต่ข้อกฎหมายให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปอย่างแท้จริงยังไม่ได้เปิดกว้าง หรือแก้ไขแต่อย่างใด

ยอมรับว่าการเจรจาในส่วนของภาคการค้ามีความคืบหน้ามากกว่า เพราะเกือบทุกประเทศเริ่มทยอยให้มีการค้าขายอย่างเสรี และยกเว้นภาษี รวมถึงยกเลิกกฎกติกาที่เป็นอุปสรรค ดังนั้นเรื่องของการค้าขาย (เทรดดิ้ง) ระหว่างประเทศค่อนข้างเปิดกว้าง

สิ่งที่กสิกรมองเห็นทำให้ธนาคารกำหนดโมเดลให้บริการด้านการเงินให้กับลูกค้า ธุรกิจเทรดดิ้งเป็นหลัก และร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันการเงินท้องถิ่น เพื่อดูแลลูกค้าของแต่ละประเทศที่ข้ามไปลงทุน

ดังเช่นข้อตกลงของธนาคารที่ร่วมมือกับอกริแบงก์และเวียตตินแบงก์ในเวียดนาม คือ ร่วมมือให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทยในเวียดนาม เช่น การบริหารบัญชี การทำธุรกรรมในประเทศและต่างประเทศ การให้สินเชื่อ การให้คำแนะนำ ทางธุรกิจแก่ลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย เช่น ข้อมูลเรื่องการค้าการแข่งขันในตลาด กฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการจัดกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างกัน เช่น การจัดสัมมนา จับคู่ธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนพนักงาน

การร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นเป็นการอาศัยสาขาของแต่ละประเทศที่มีอยู่ ปัจจุบันใน 4 ประเทศ มีสาขารวมกันประมาณ 3,400 สาขา และภายในปีนี้จะขยายเพิ่มเป็น 5,000 สาขา ใน 9 ประเทศ

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า แนวทางการขยายพันธมิตรใน 10 ประเทศ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีชายแดนติดกัน และกลุ่มที่เป็นเกาะ โดยเริ่มจากกลุ่มที่มีชายแดนติดกัน เพราะหากมองในเชิงค้าขาย กลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกันจะมีเรื่องระบบโลจิสติกส์ และมีความถี่ในการค้าขายมากกว่า

การเดินตามแผนธุรกิจของกสิกรไทยใน 3 ปีจากนี้ไป เป็นการเรียนรู้ตลาดอาเซียน และโมเดลจะเปลี่ยนไปตามกฎกติกา ความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีความก้าวหน้ามากกว่านี้

ทรงพลกล่าวในมุมมองของเขา โดยเชื่อว่า ตลาดอาเซียนยังไม่มีใครรู้จักเป็นอย่างดี และจากการประเมินรู้จักเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนสถาบันการเงินที่เปิดให้บริการกระจายไปเกือบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ในภูมิภาคนี้ก็ตาม เป็นการลองผิด ลองถูก เพราะการเปิดสาขาครบถ้วนในอาเซียน ไม่ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จในการทำธุรกิจ

จุดยืนความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคารกสิกรไม่ได้แวดล้อมเฉพาะประเทศในอาเซียนเท่านั้น แต่เครือข่ายความร่วมมือดังกล่าวของธนาคารได้ขยายไปสู่ระดับอาเซียน +3 คือมีพันธมิตร จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

ส่วนสถาบันการเงินต่างประเทศที่สนใจเข้ามาเปิดให้บริการภายในประเทศไทย มองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นชัดแล้วว่า กรณีแบงก์ต่างประเทศเข้ามาลงทุนไม่ประสบความสำเร็จเพียงเพราะมีเงินทุนจำนวนมาก แต่เหตุผลเป็นเพราะ ว่ามีฐานลูกค้าไม่มากพอ และไม่มีประสบการณ์ดูแลลูกค้าท้องถิ่น แต่ก็ไม่ควรไว้ใจกรณีสถาบันการเงินมาลงทุนในประเทศ

"รูปแบบธุรกิจการลงทุนในอาเซียนของแบงก์ในภูมิภาคนี้ไม่สามารถบอกได้ว่า การเปิดสาขาจำนวนมาก หรือร่วมมือกับพันธมิตร แบบใดที่จะประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จต้องอาศัยบุคลากร และการบริหารจัดการ"

แต่หากมองในมุมของการลงทุน ของธนาคารกสิกรไทย หรือแบงก์ไทยอื่นๆ เมื่อเปรียบเทียบเงินลงทุนและขนาดของธุรกิจแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และโอกาส การลงทุนในอาเซียนว่าใครสามารถมองเห็นทะลุปรุโปร่ง และเร็วกว่ากัน เพราะหาก มองเห็น และบริหารจัดการช้ากว่า การสูญเสียโอกาสตลาดอาเซียนให้กับคู่แข่ง ประเทศในภูมิภาคนี้ก็ย่อมสูงเช่นเดียวกัน

ส่วน AEC โมเดลของกสิกรไทย ใช่คำตอบของตลาดอาเซียนหรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์

www.gotomanager.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม