วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พัฒนาประเทศไทยต้องเริ่มที่คน คมชัดลึก : เศรษฐกิจ

การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ มากมายหลายอย่าง แต่หนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนา นั่นคือ ปัจจัยด้านทรัพยากรคน ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า หลายๆ ประเทศสร้างชาติขึ้นมาจากคุณภาพของคน

ผมคิดว่า ตัวอย่างที่น่าจะใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาคน คือกรณีของประเทศสิงคโปร์

ถ้ายังจำกันได้ สิงคโปร์ในอดีตไม่ได้เจริญก้าวหน้าอย่างปัจจุบัน เมื่อ 50 ปีที่แล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศที่ระบบการศึกษาไม่มีคุณภาพ มีปัญหาการว่างงานเรื้อรัง ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ แต่เพียงแค่ไม่ถึงสี่ทศวรรษ ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย

แม้มีหลายปัจจัยต่อความสำเร็จของสิงคโปร์ แต่ที่สำคัญมากๆ คือคุณภาพของคน

สิงคโปร์มีการวางแผนพัฒนาคนอย่างจริงจัง ซึ่งได้เริ่มทำกันมาตั้งแต่ในทศวรรษที่ 1970 ระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญเรื่อยมา โดยเฉพาะการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จากรายงานการพัฒนาโลก (World Development Report) สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีการลงทุนทางด้านการศึกษาเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในเอเชียอย่างต่อเนื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังยกระดับการศึกษาตนเองโดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก และยังมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพคนอย่างต่อเนื่องแม้จะเป็นแรงงานแล้วก็ตาม

เมื่อดูตัวอย่างสิงคโปร์แล้ว ประเทศไทยเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง โดยเฉพาะในเวลานี้ที่เรากำลังอยู่บนรอยต่อสำคัญของการพัฒนา

ประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจหลายประเทศกำลังไล่หลังเรามาติดๆ เช่น เวียดนาม พม่า อินเดีย ซึ่งมีอัตราค่าจ้างแรงงานถูกกว่าไทยมาก ทำให้เราเสียเปรียบทางการแข่งขัน ฉะนั้น ถ้าเราต้องปรับตัวโดยยกระดับเศรษฐกิจตัวเอง ที่ไม่เน้นแรงงานราคาถูก เทคโนโลยีต่ำ จะต้องพัฒนาคนอย่างไรเพื่อการเปลี่ยนผ่านนี้ มิเช่นนั้น ก็จะตกอยู่ในสภาพเหมือนไส้แซนด์วิช คือจะขึ้นชั้นทางเศรษฐกิจก็ยาก ในขณะที่ข้างล่างก็กำลังดันขึ้นมา

หากไม่เร่งพัฒนาคุณภาพคน เราจะเผชิญความยากลำบากทางการพัฒนามากในอนาคต ดังนั้น โจทย์สำคัญของเรา ณ เวลานี้คือ ประเทศไทยจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไร และแรงงานลักษณะเช่นใดที่ประเทศไทยต้องการในอีกทศวรรษข้างหน้า

ผมคิดว่า ข้อสรุปหนึ่งที่เราเห็นตรงกันตอนนี้คือ ประเทศไทยไม่น่าจะใช่สวรรค์ของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ และต้องการค่าจ้างแรงงานถูกอีกต่อไปแล้ว การก้าวไปสู่ธุรกิจบริการ การเงิน การท่องเที่ยว เสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจอาหารในความหมายที่กว้างมากกว่าการเพาะปลูก การทำปะมง แต่หมายถึงการทำธุรกิจอาหารแบบครบวงจร น่าจะเป็นภาพโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในทศวรรษข้างหน้า

แล้วถ้าเราจะไปในทิศทางเช่นนี้ เราจะเตรียมความพร้อมของคนไทยอย่างไร

แน่นอนว่า การสอดแทรกยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าไปในระบบการศึกษาของไทย เช่น วิชาความชำนาญทางด้านบริหารอุตสาหกรรม วิชาการบริหารธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น สิ่งนี้จะทำให้กำลังแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคตนอกจากจะมีความรู้ในสาขาที่ตนเองเลือกแล้ว ยังได้ความรู้พื้นฐานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของชาติ

ในขณะเดียวกัน โครงสร้างในการพัฒนาแรงงานของเราจำเป็นต้องประกอบด้วยทุกภาคส่วนที่สำคัญ เพื่อจะยกระดับความเชี่ยวชาญของแรงงานในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ และเหนืออื่นใด การพัฒนาศักยภาพของแรงงานที่อยู่ในระบบยังต้องทำไปตลอด เป็นรูปแบบการเรียนรู้ทั้งชีวิต ความร่วมมือระหว่างสหภาพ นายจ้าง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องได้รับการสนับสนุนและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

โดยสรุปแล้ว รูปแบบการพัฒนาคนจะต้องเป็นไปในลักษณะบูรณาการ ต้องเชื่อมโยงแนวทางการพัฒนาคนเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และต้องพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องตามการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยไม่อาจหยุดนิ่งได้

.....................................
(พัฒนาประเทศไทยต้องเริ่มที่คน : คอลัมน์จับกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : โดย...ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com)



www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม