วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง » วังวนแห่งหนี้สินของครัวเรือน

หนี้สินครัวเรือนเป็นผลสะท้อนภาวการณ์ใช้จ่ายและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อเสถียรภาพและความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ สถานการณ์ราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ราคาน้ำมันและอาหารที่เพิ่มขึ้นจะมีผลกระทบต่อภาวะการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมากกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูง

ครัวเรือนตามสถานะทางเศรษฐสังคมแบ่งเป็น 10 กลุ่ม คือ 1) ผู้ถือครองทำการเกษตร ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่เป็นของตนเอง 2) ผู้ถือครองทำการเกษตร ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่เช่าผู้อื่น 3) ผู้ทำการประมง ป่าไม้ ล่าสัตว์ หาของป่า และบริการทางการเกษตร 4) ผู้ดำเนินธุรกิจของตนเองที่ไม่ใช่การเกษตร 5) ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ นักวิชาการ และนักบริหารที่รับจ้าง 6) คนงานเกษตร 7) คนงานทั่วไป เสมียนพนักงาน พนักงานขายและให้บริการ 9) ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการผลิต 10) ผู้ไม่ได้ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ (เช่น บำเหน็จ บำนาญ เงินช่วยเหลือ รายได้จากทรัพย์สิน)

ครัวเรือนรายได้น้อยเป็นครัวเรือนที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้สินมากที่สุด เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ไม่มีเงินออม มีสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งเป็นหลักประกันน้อย และมีความเปราะบางต่อปัญหาทางเศรษฐกิจสูง ประมาณร้อยละ 45 ของครัวเรือนรายได้น้อยเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นกลุ่มที่มีการกู้เงินมากที่สุด นอกจากนี้ ครัวเรือนผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องการเปรียบเทียบอัตราร้อยละของครัวเรือนที่มีหนี้และจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น (ปี 2545-2554) พบว่า ในภาพรวมครัวเรือนที่มีหนี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2547 จากร้อยละ 62.4 เป็น 66.4 และมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2554 จากร้อยละ 64.4 เป็น 56.9 แต่จำนวนเงินที่เป็นหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2554 คือ จาก 82,485 เป็น 136,562 บาท

มีนักวิชาการได้วิเคราะห์ว่า ครัวเรือนรายได้น้อยมักแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของตนโดยการกู้ยืมจากแหล่งอื่นมาใช้หนี้ และผิดนัดชำระหนี้เป็นสัดส่วนที่มากกว่าครัวเรือนในกลุ่มอื่นๆ สำหรับช่องทางที่ทำให้กลุ่มครัวเรือนที่จนที่สุดสามารถที่จะกู้ยืมได้นั้น ส่วนใหญ่มาจากช่องทางของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนหมู่บ้าน และธนาคารเฉพาะกิจ เช่น ธ.ก.ส. ในขณะที่ครัวเรือนในกลุ่มนี้ถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ทำให้ต้องหันไปหาหนี้นอกระบบ หรือใช้ช่องทางประชานิยมของนักการเมือง เช่น กองทุนหมู่บ้าน เพื่อการกู้ยืมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ช่องทางดังกล่าวกลับทำให้ครัวเรือนรายได้น้อยต้องมีระดับของความเป็นหนี้มากกว่าความสามารถของตนในการชำระหนี้ จึงเป็นจุดที่น่าคิดว่านโยบายของรัฐบาลกำลังเป็นช่องทางที่ทำให้คนเป็นหนี้มากขึ้น และตกอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้หรือไม่

แผนการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พ.ศ.2555-2558 ในเรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) เพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 79,600 กองทุน กองทุนละ 1 ล้านบาท 2) ยกระดับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชน จำนวน 4,000 แห่ง 3) เพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท 4) จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีวงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท 5) จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ในวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ต่อสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการ สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถกู้ยืมเพื่อการสร้างอาชีพ ผนวกกับกลไกของ "หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ" ในสถานศึกษา โดยมุ่งให้เกิดวิสาหกิจนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ครัวเรือนรายได้น้อยที่อยู่ในภาคเกษตรและแรงงานยังคงมีความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน จากการที่มีสัดส่วนหนี้สินทั้งหมดต่อรายได้และภาระหนี้สินต่อเดือนสูง ทั้งยังมีรายจ่ายมากกว่ารายได้และสะสมสินทรัพย์ทางการเงินน้อย ทำให้มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำและเสี่ยงต่อภาระหนี้สินเมื่อประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าปัจจัยบวกระยะสั้น เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาคเกษตรและแรงงานไปได้บ้าง แต่ภาวะราคาน้ำมันแพงและค่าครองชีพสูงก็จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของครัวเรือนดังกล่าวในระยะต่อไป

เป็นที่น่าคิดว่า แผนการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแท้จริงแล้วคือการสร้างปัจจัยบวกระยะสั้น ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นหนี้มากขึ้นของครัวเรือนรายได้น้อยที่เป็นเนื้อแท้ของเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่

กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทหน้าที่หลักที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและค่าครองชีพของประชาชนในการดูแลราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ตลอดจนดูแลราคาสินค้าและบริการให้มีราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม กระทรวงพลังงานมีบทบาทหน้าที่ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและผู้ผลิต แก้ไขปัญหาค่าครองชีพโดยการดูแลราคาสินค้าและการมีรายได้เพื่อเพิ่มกำลังซื้อสุทธิของประชาชนโดยป้องกันและแก้ไขการผูกขาด กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานจึงน่าจะแสดงให้ประชาชนเห็นถึงกลไกการนำแผนการบริหารราชการแผ่นดินที่บูรณาการสัมพันธ์กันอย่างเป็นเอกภาพไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

หรือว่าวังวนแห่งหนี้ของครัวเรือนรายได้น้อยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงเนื้อแท้เศรษฐกิจของประเทศ?

สุภัทร ลักษณศิริ



www.banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม