วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ฟังกันมาหลายครั้ง หลายเวทีเรื่องการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในอีกไม่ถึง 3 ปี...

ฟังกันมาหลายครั้ง หลายเวทีเรื่องการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในอีกไม่ถึง 3 ปี

จนหลายคนเบื่อที่จะฟัง เพราะกี่เวที พบน่าวิทยากรคนเดิม พูดแต่เรื่องเดิม ๆ

แต่มาวันนี้(18 พ.ค.) ในการจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง"อนาคตประเทศไทยในการเข้าสู่ประคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนผู้ราษฎร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า


กลับพบมุมมอง และประเด็นใหม่ ๆ ที่แตกต่างทางด้านความคิด จากนักวิชาการ บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลก

อย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในกลุ่มค้าปลีกยักษ์ เซ็นทรัลรีเทล อย่างน่าติดตามยิ่ง

ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC เท่าที่ควร ทั้งที่เป็นจุดสำคัญที่จะเตือนให้เห็นความสำคัญ และถือเป็นเสาหลักของประเทศไทยในการเริ่มเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ แต่ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่โมเดลโลกาภิวัฒน์อย่างไร จะเริ่มแบบเต่าหรือกระต่าย เพราะจะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศประเทศไทยต้องปรับตัวให้ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ และเลี่ยงความเสี่ยงจากการให้ประเทศอื่นเข้ามา และการที่จะเข้าไปสู่ประเทศอื่น

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่โลกาภิวัฒน์หลังก้าวเข้ามาในอาเซียน เราได้รับการยกย่องว่า มีการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่อง และต่อมาได้รับการจารึกเป็นประเทศแรกที่ประสบความล้มเหลวทางเศรษฐกิจเป็นประเทศแรกครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ปัจจุบันวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นไม่กระทบประเทศไทย แต่เกิดวิกฤตใจกลางโลกาภิวัฒน์ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ดังนั้น การก้าวเข้า AEC ของไทย ประเทศไทยต้องย้อนดูบทเรียนในอดีต และปัจจุบัน ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 45-50 ปีที่ผ่านมา


โดยเฉพาะดูบทเรียนการรวมตัวกันในอาเซียน มีข้อดีที่ต้องค่อย ๆ ก้าวหน้า โดยอาเซียนขับเคลื่อนจากข้อตกลงทางการเมือง ไม่ใช่เศรษฐกิจ ทำให้การเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียนค่อย ๆ คืบหน้าไปช้า ๆ ต้องใช้หลักการทางการเมืองมาพิจารณามากกว่าการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่า มีความพร้อมมีความสามารถในการฉกฉวยโอกาส เพราะประเทศไทยถือมีข้อได้เปรียบในแง่ภูมิศาสตร์ที่อยู่ใจกลางอาเซียน


นกจากนี้ บทเรียนสำคัญที่ประเทศไทยควรศึกษา กรณีประสบการณ์ของประเทศจีนเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาว่า ประเทศจีนพัฒนาตัวเองอย่างไรกว่าจะก้าวขึ้นสู่ประเทศมหาอำนาจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และอาจจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในอีก 20-30 ปีข้างหน้า โดยสิ่งที่ประเทศไทยควรเรียนรู้จากประเทศจีน เพื่อเตรียมตัว และพัฒนาโลกาภิวัฒน์ ได้แก่ 1.ศึกษาโมเดลจีน ทำให้เกิดปาฎิหารย์ทางเศรษฐกิจขึ้นมา 2.การพัฒนาอนาคตเศรษฐกิจจีน ต้องตระหนักว่า หลังความสำเร็จ 30 ปีแล้ว มีสิ่งท้าทายอะไรต้องศึกษาด้วย


"ผมอยากให้ลองพิจารณารายงานผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาระดับสากลแห่งหนึ่ง ซึ่งได้เปิดเผยสำรวจนักธุรกิจต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยมีความรู้สึกอย่างไรหลังเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ว่า โดยทั่วไปนักธุรกิจต่างประเทศยังมั่นใจ ต่อฝีมือแรงงานของไทย แต่ไม่มั่นใจว่าไทยมีการเตรียมตัวพัฒนาแรงงานเหล่านี้ขึ้นไปอีกระดับหรือไม่ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นห่วงมาก และระบุว่า ไม่มีหลักฐานปรากฎว่าไทยจะมีการพัฒนาเรื่องแรงงาน ทักษะของผู้ใช้แรงงาน

ต่างกับประเทศจีน จะให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาบุคลากร โดยรัฐบาลจีนจะระบุเป็นเงื่อนไขในการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในประเทศจีนด้วย ไม่ใช่เพียงการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ให้มีการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้สามารถรองรับเทคโนโลยีได้ ขณะที่ประเทศไทยไม่มีแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์


ขณะที่ระบบสาธารณูปโภค ไม่มีความเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ได้ยินแต่การพูดถึงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (อีสต์-เวสต์ คอริดอร์) แต่ไม่มีการเขียนโครงการเป็นนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนา

ที่สำคัญตอนเกิดน้ำท่วม สิ่งที่ทุกข์ของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นคือ ซัพพลายเชนการผลิตรถยนต์ และไอที ได้รับผลกระทบมากทำให้ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนได้ รวมถึงเรื่องผลิตภาพ(Productivity)น่าจะชัดเจน

และสิ่งที่นักลงทุนเป็นห่วงที่สุด การที่นักลงทุนมองไม่เห็นว่าทางภาคราชการ และการเมืองจะมีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว 5-10 ปี ทำให้นักลงทุนมีความรู้สึกว่า ประเทศไทยไร้ทิศทางไร้ยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน พูดแต่ไม่มีแนวทางการค้าที่ชัดเจน ไม่มีแผนที่ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ

จุดนี้ต่างกับประเทศจีน จะมีการวางแผน 5 ปีทำอะไร 10 ปีทำอะไร ทุกอย่างมีการตามแผนที่วางไว้ เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ขณะที่ประเทศไทยทิศทางการเมืองการเปลี่ยนแปลงนโยบายตลอด วันนี้พรรคการเมืองนี้บริหาร พรุ่งนี้เป็นอีกพรรคเข้ามาบริหาร แมันักธุรกิจต่างชาติจะมองข้ามประเทศไทยไปไม่ได้หากจะมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ประเทศไทย โดยภาครัฐ และภาคเอกชนต้องเข้ามาช่วยกันจัดการกับปัญหาต่าง ๆ


สิ่งท้าทายที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ AEC นั้น นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ซีพีจะพูดถึงกรณีที่ประเทศไทยมีตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบในอาเซียน ทั้งทางด้านการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมทางบก เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน แต่ไทยจะรับหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่ประสานได้หรือไม่

ยกตัวอย่าง ปัจจุบันแต่ละประเทศใน AEC ใช้ระบบ Hardware ระบบ Software ต่างกัน การจะเปลี่ยนมาใช้ระบบเดียวกันเป็นเรื่องยาก และในอนาคตยังไม่มีความเป็นไปได้ กรณีสิงคโปร์ กับลาวมีความแตกต่างกันมาก แต่ทำให้อย่างไรที่จะประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานหรือวางระบบให้ทุกประเทศใน AEC ทำกิจกรรมเชื่อมโยงในระบบเดียวกันได้ นั่นคือ ต้องทำเรื่องของ Middleware


เปรียบเทียบเหมือนธุรกิจธนาคารทุกวันนี้ ลูกค้าที่เข้ามาทำธุรกรรมกับธนาคารมีคนหลายระดับความรู้ ทั้งคนไทย คนต่างชาติมากมาย แต่ทำไมธนาคารสามารถบริหารจัดการให้ทุกคนเข้าใจ และดำเนินธุรกรรมทางการเงินให้เดินหน้าไปได้ เช่นเดียวกับ AEC ประเทศไทยน่าจะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงทั้งใน และนอกภูมิภาค เช่น จะบริหารคนของประเทศกัมพูชา ลาว พม่า สิงคโปร์ ซึ่งมีระดับความรู้ และเทคโนโลยีที่แต่ละประเทศมีต่างกันให้ได้อย่างไร


"ที่ผ่านมาการก้าวเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ภาคเอกชนส่วนใหญ่จะพยายามเรียนรู้ ขณะที่ภาครัฐยังดำเนินนโยบายแบบสบาย ๆ กันอยู่ ถ้าปวดท้องก็หายาแก้ปวดให้ แต่ปัญหาคือ เราไม่ได้สำรวจทั้งร่างกายว่า สาเหตุของอาการปวดท้องเกิดจากอะไร เหมือนประเทศไทยต้องมีการสำรวจประเทศว่า ปัญหาอยู่ตรงจุดไหนอย่างไร ประเทศไทยเป็นอย่างนี้มานาน ระยะหลังเกิดปัญหา และรอดพ้นมาได้ ก็บอกพระสยามเทวาธิราชช่วย แต่ผมว่า พระสยามเทวาธิราชถ้าท่านบอกได้ ท่านคงเอื้อมระอา ถ้าเรายังนั่งสบายเรื่อย ๆ ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างนี้ ประเทศไทยจะเตี้ยลง ๆ ในอาเซียน เราอาจจะโดนประเทศลาว กัมพูชา พม่าแซงหน้าไป"


ผมสังเกตเวลาไปเข้าประชุม AEC ในต่างประเทศ ข้าราชการ และนักการเมืองของกัมพูชาจะกล้าแสดงความคิดเห็นกันมาก ขณะที่ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยนั่งหลบอยู่แถวที่สอง ถ้าไทยไม่แสดงบทบาทหน้าที่ ก็อย่ามาพูดว่า ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในอาเซียน ทั้งที่ในแง่ศักยภาพการแข่งขันในโลก ประเทศไทยมีความได้เปรียบทั้งทางด้านที่ตั้งภูมิศาสตร์ และด้านสินค้าเกษตร ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 7 ของโลก ไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างไรให้เต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ อย่างนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก แต่ปัจจุบันร้านอาหารไทยขนาดใหญ่ในต่างประเทศเจ้าของกลับเป็นคนต่างชาติ ขณะที่ร้านอาหารที่เจ้าของเป็นคนไทยเป็นธุรกิจในครอบครัวคนไทยเล็ก ๆ รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ด้วย


โดยบทบาทหนึ่งที่ภาครัฐ ทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายราชการจะต้องทำในการก้าวสู่ AEC คือ ต้องหาหลัก และพยายามดำเนินการ เพื่อจะให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมจะเดินหน้าไปใน 6 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ภาครัฐต้องแสดงความโปร่งใสในทุกเรื่องต้องอธิบายได้ว่า สิ่งที่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม หรือเพื่อใคร 2.ภาคราชการต้องมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใด ต้องตอบคำถามให้ได้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าไทยจะต้องไปแข่งขัน 3.ต้องมีการพัฒนาทักษะการผลิต 4.ภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีความร่วมมือกันพัฒนายุทธศาสตร์ เพื่อก้าวเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ เรื่องมาตรฐาน และนโยบายจะไปทางไหน 5.ภาครัฐต้องเป็นผู้นำในการเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ 6.ภาครัฐ และภาคอื่น ๆ ในสังคม จะต้องร่วมมือกันว่าจะเดินไปสู่เป้าหมายใน AEC อย่างไร




www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม