อาเซียน-จีน โอกาส การค้า การลงทุน คุยกับซี.พี โดย...ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม(จีน)
ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง กับการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 เป็นประเด็นสำคัญที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม...
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือไทยจะแสวงหาประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าครั้งนี้อย่างไร? และคงไม่ใช่เฉพาะจะได้ประโยชน์เฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่ประเทศที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างจีน ก็เป็นอีกขุมทองสำคัญที่ประเทศไทยจะผนวกโอกาสที่ยิ่งใหญ่นี้เข้าด้วยกัน…
เศรษฐกิจจีนเวลานี้ฉุดไม่อยู่แล้ว ถึงแม้ว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จีนจะตั้งไว้ที่ 7 % แต่การเติบโตที่แท้จริงอาจจะมากกว่านั้น ซึ่งคาดว่าประมาณ 8-9 % เพราะเศรษฐกิจจีนเวลานี้เปรียบเสมือนคนหนุ่มที่กำลังเติบโต
ระยะเวลาเพียง 30 กว่าปี จีนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะ "คน" ผู้บริหารจีนในปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา ฉลาดและมีวิสัยทัศน์ อายุ 40 กว่า ๆจบปริญญาโท ปริญญาเอก มีความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศดีมาก แล้วบริหารประเทศโดยคิดถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศทุกอย่าง
ทั้งหมดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงที่ "เติ้ง เสียว ผิง" ดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ มีนโยบายส่งคนจีนไปเรียนหนังสือในประเทศแทบตะวันตก ประมาณ 2,000 คนต่อปีภาคเอกชนก็ส่งคนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เมื่อคนเหล่านี้มีความรู้สูงขึ้นแล้วกลับมาบริหารประเทศจึงช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนได้อย่างมหาศาล
กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจีนที่ขับเคลื่อนไปได้ดีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นผลงานที่เกิดจากฝีมือคนรุ่นใหม่ อายุน้อย การศึกษาสูง มีประสบการณ์ เพราะคนกลุ่มนี้รู้จักตลาดภายนอก แล้วพูดภาษาอังกฤษได้หมด
การสร้างคน การให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนเป็นอันดับต้น ๆ ในนโยบายการพัฒนาประเทศ จึงเป็นบทพิสูจน์ที่ตอกย้ำให้เห็นว่าจีนเดินมาถูกทาง
อีกเรื่องหนึ่งที่จีนให้ความสำคัญไม่แพ้การสร้างคน คือ การวางนโยบายพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม step by step โดยทุกโครงการจะทำโครงการนำร่องก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ ถ้าดีก็จะดำเนินการต่อ แต่หากไม่ดีก็จะถอยเพื่อปรับปรุงแล้วพัฒนาต่อ
ความน่าสนใจการพัฒนาประเทศจีนไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ในเรื่องของการจัดการเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็เป็นอีกเรื่องใหญ่ที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะจีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มากเท่า ๆ กับยุโรป หากรัฐบาลจีนมีนโยบายให้ทุกพื้นที่ติบโตไปพร้อม ๆ กันทั้งประเทศ จีนคงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ขนาดนี้ ในห้วงเวลานั้น "เติ้ง เสียว ผิง"มองเห็นภาพในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากให้ทุกพื้นที่เติบโตไปพร้อมๆ กัน และหากจัดการให้แต่ละพื้นที่เติบโตในก้าวที่แตกต่างกัน เขาจึงออกมาประกาศเลยว่า ให้คนกลุ่มหนึ่งรวยก่อน แล้วค่อยไปสร้างคนอีกกลุ่มหนึ่งให้รวย และตอนนี้จีนอยู่ระหว่างช่วงการพัฒนาที่ให้คนรวยไปช่วยคนจน
พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของจีนเวลานี้จึงคึกคักเพราะจีนกำลังทุ่มเทการพัฒนาลงไป จึงน่าสนใจมากสำหรับประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจของเมืองเหล่านี้กำลังโต และที่สำคัญมณฑลเหล่านี้ยังมีพื้นที่ที่ติดกับประเทศไทย อย่างเช่น คุนหมิง กวางสี เสฉวน ยูนาน กุ้ยโจว ซีอาน ซึ่งเมืองเหล่านี้ต้องการให้คนเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปขายในประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างมากจึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย
ประเทศจีนจะมีระเบียบบางอย่างที่ไม่เหมือนกับประเทศไทย นั่นคือ ให้แต่ละมณฑลมีเอกภาพ มีสิทธิขาดในการจัดสรรรายได้ของตัวเอง โดยรัฐบาลกลางจะจัดสรรเงินส่วนหนึ่งให้มณฑลบริหารจัดการเอง
อีกเรื่องหนึ่งที่มองว่าเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย คือ เวลานี้จีนมีนโยบายผลักดันให้นักธุรกิจจีนไปลงทุนในต่างประเทศ จากการที่ได้มีโอกาสคุยกับนักธุรกิจหลายครั้ง มักจะถูกถามคำถามเดิมๆ ว่า ทำไมซี.พี.จึงประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในประเทศจีน ?
เหตุผลหลักที่ทำให้ซี.พี.ประสบความสำเร็จในการลงทุนในประเทศจีน คือ การได้พาร์ทเนอร์ที่ดี
การไปลงทุนในต่างประเทศต้องยอมรับว่า เราไม่มีทางรู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ของประเทศเหล่านั้นทั้งหมด ดังนั้นในการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องใช้คนท้องถิ่น
ดังนั้น การที่นักลงทุนจีนจะเข้ามาลงทุนในเมืองไทยก็อยากได้พาร์ทเนอร์ที่ดีด้วยเช่นกัน นักธุรกิจไทยจึงต้องตาแหลม แสวงหาบริษัทจีนดี ๆ เพื่อร่วมลงทุนเพราะเขาต้องการเรา เราก็ต้องการเขา
ประเทศไทยต้องการเทคนิคการทำธุรกิจของจีน ต้องการเงินลงทุนของจีน แต่จีนก็ต้องการให้เราช่วยในเรื่องของทำตลาดในประเทศไทย การจับมือกันระหว่างนักธุรกิจจีนและนักธุรกิจไทยจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในช่วงเวลานี้และในอนาคตอันใกล้
จะเห็นว่าโอกาสของไทยกับจีนนั้นมีมหาศาล ยิ่งหันมามองการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่ทุกประเทศในอาเซียนจะรวมเป็นตลาดเดียวกัน ประเทศไทยได้เปรียบที่สุด เพราะประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และประเทศไทยยังมีปัญหาน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น พม่า เวียดนาม ลาว ฯลฯ
ถ้ายิ่งไปดูตัวเลขการลงทุนของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นชัดว่า ปีที่แล้วจีนขนเม็ดเงินมาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนหลายแห่งและในปีนี้จะมีเข้ามาอีก
ในเรื่องการท่องเที่ยว ชาวจีนนิยมมาท่องเที่ยวในประเทศไทย มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากประมาณ 7 แสนกว่าคนต่อปี ขยับมาเป็น 1.1 ล้านคนต่อปี แล้วเพิ่มเป็น 2 ล้านกว่าคนต่อปี ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยอาจจะเพิ่มเป็น 9-10 ล้านคนในอนาคตอันใกล้
วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ในหลายด้าน ทั้งเรื่องของธุรกิจบริการ โรงแรม การจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ การค้า การลงทุน เพราะไม่ว่านักลงทุนไทยจะขยายการลงทุนไปในประเทศจีน หรือจับมือจีนเป็นพันธมิตรแล้วลงทุนผลิตสินค้าในประเทศไทยส่งออกไปขายทั่วโลก ประเทศไทยได้ประโยชน์ทั้งสิ้น
ที่มา : มติชนออนไลน์
www.prachachat.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น