วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน ปี พุทธศักราช 2555 นอกจากจะตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว วันนี้ ยังเป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อร่วมฉลองรรำลึกพุทธชยันตี โอกาสครอบรอบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ ขององค์ตถาคตอีก เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช(พุทธปรินิพพาน) อีกด้วย
พุทธชยันตี หรือ สัมพุทธชยันตี (Sambuddha jayanthi) เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา
คำว่า พุทธชยันตี มาจากศัพท์ พุทธ+ชยันตี (สันสกฤต: जयंती) ที่แปลว่า วันครบรอบ (Anniversary) ในภาษาสันสกฤต พุทธชยันตีจึงแปลว่า การครบรอบวันเกิดของพระพุทธเจ้า หรือวันครบรอบชัยชนะของพระพุทธเจ้าก็ได้
"พุทธชยันตี" ใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น ครบรอบ 2,500 ปี แห่งปรินิพพาน หรือ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ ในแต่ละประเทศ อาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้าง เช่น ศรีสัมพุทธชันตี สัมพุทธชยันตี แต่ทั้งหมดก็คือการจัดกิจกรรมพุทธชยันตี เพื่อมุ่งหมายการถวายเป็นพุทธบูชาในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้านั่นเอง
สันนิษฐานว่า สัมพุทธชยันตี หรือ พุทธชยันตี เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 ในประเทศศรีลังกา แต่ทั้งนี้ นาย อู ถั่น อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นชาวพม่า ได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก โดยเรียกว่า การฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ โดยนำคำ Buddha Jayanti (बुद्ध जयंती) ซึ่งเป็นคำเรียกวันครบรอบของชาวอินเดียและเนปาลมาใช้ เพื่อให้เกียรติประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธสังเวชนียสถาน และมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น เช่น ประเทศ พม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย
ขณะที่ประเทศไทย ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้มีการฉลองเนื่องในโอกาสพุทธชยันตีนี้ด้วย โดยจัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย มีการจัดสร้างพุทธมณฑล การประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ
ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ได้มีการจัดงานพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ พร้อมกันในปี พ.ศ. 2555 เช่นเดียวกัน แต่เนื่องด้วยการนับพุทธศักราชที่แตกต่างกัน ทำให้ประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศอินเดีย ศรีลังกา และพม่า จัดงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ เร็วกว่าประเทศไทย 1 ปี
ศรีลังกา พม่า อินเดีย ได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่วิสาขบูชา พ.ศ. 2553 ถึงพ.ศ. 2555 โดย ศรีลังกาใช้ชื่องานว่า The 2,600th Sambuddathwa Jayanthi โดยจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่ทั่วประเทศในช่วงเทศกาลวิสาขบูชา ในปี พ.ศ. 2554 (พ.ศ. 2555 ตามการนับพุทธศักราชแบบศรีลังกา) มีการออกเหรียญที่ระลึกโดยรัฐบาล การจัดสร้างอนุสรณ์สถานพุทธชยันตี และการบูรณะพุทธเจดีย์สถานโบราณในเมืองอนุราธปุระ และกิจกรรมพุทธบูชาต่าง ๆ ถูกจัดขึ้นทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลวิสาขบูชา นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ส่งเสริมให้ประชาชนไปนมัสการพุทธสังเวชนียสถาน โดยมีการจัดงานใหญ่ของรัฐบาลและคณะสงฆ์ศรีลังกาในพุทธสถานสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติในประเทศอินเดีย-เนปาล ตลอดทั้งปี
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยใช้ธงสัญลักษณ์การฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ในประเทศไทย เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นธง สีเหลืองมีรูปใบโพธิ์รอบธรรมจักร ในวงธรรมจักรเป็นสีธงฉัพพรรณรังสี มีจำนวน 12 ซี่ ซึ่งหมายถึง ญาณ 3 ในอริยสัจ 4 ความหมายของธงสัญลักษณ์นั้น ใบโพธิ์ หมายถึง การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สีเขียวแห่งใบโพธิ์ หมายถึง ความเจริญงอกงามของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมจักรกลางผืนธงฉัพพรรณรังสี หมายถึง หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนกลายไทยชูช่อฟ้า หมายถึง ผืนแผ่นดินไทยได้เชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
งานฉลองสัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในประเทศไทยนั้น มีระยะเวลาจัดงานตั้งแต่ เทศกาลวิสาขบูชา วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น