วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นอกจากคนไทยจะตื่นเต้นกับการมาเยือนของนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย...

นอกจากคนไทยจะตื่นเต้นกับการมาเยือนของนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่เดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรก เพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก (World Economic Forum on East Asia) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้ ณ โรงแรมแชงกรี-ลา
ค่ำคืนของวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา วันแรกของการมาเยือนไทย ในส่วนของผู้ใช้แรงงานชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ตื่นเต้นไม่น้อย เพราะจากภาพข่าวของค่ำคืนวันที่นางอองซานได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ผู้ใช้แรงงานชาวพม่าจำนวนหนึ่งเดินทางมารอรับนางอองซาน เพื่อให้นางอองซานเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของค่าแรงภายหลังเข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทย
เมื่อประชาชนชาวพม่าต้องการแบบนั้น นางอองซานก็จัดให้ปุ๊บ เพราะภารกิจแรกหลังเหยียบแผ่นดินไทย นางอองซานก็มีภารกิจเดินทางไปที่ จ.สมุทรสาคร เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร รวมถึงเยี่ยมชมวิถีชีวิตของแรงงานพม่าและครอบครัวชาวพม่า พร้อมกับสอบถามสารทุกข์สุกดิบว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ไข
จากภาพที่ออกมาดังกล่าวของการเข้ามาดูแลประชาชนชาวพม่าของนาง
อองซาน ทำให้นึกถึงผู้บริหารภาคเอกชนที่เคยพูดไว้ว่า หลังจากพม่าเปิด ประเทศไทยจะน่าเป็นห่วงมาก เพราะนอกจากแรงงานส่วนหนึ่งจะยอมกลับประเทศ เพื่อไปขายแรงงานในประเทศของตัวเองจะได้ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แล้ว ประเทศไทยอาจต้องประสบกับปัญหาค่าแรง เพราะจากการที่รัฐบาลของไทยมีนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 300 บาท ในส่วนของแรงงานพม่าเองก็ย่อมต้องอยากได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เท่ากับแรงงานไทยเช่นกัน
ยิ่งนางอองซาน เข้ามาสอดส่องดูแลในเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกหลังจากเข้ามาเยือนประเทศไทย ความเป็นไปได้ของการปรับค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานพม่าให้เทียบเท่ากับแรงงานไทยยิ่งมีความเป็นไปได้สูง จากเดิมที่ผู้ประกอบการไทยมีความเคยชินจ้างงานแรงงานพม่าในราคาถูก ก็อาจจะไม่ได้ราคาเดิมที่เคยจ้าง เพราะถ้าพม่าเปิดประเทศจริง ธุรกิจทุกด้านมุ่งตรงเข้าไปลงทุนในพม่า การจ้างงานย่อมมีมาก การกลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศของตัวเองย่อมมีภาษีดีกว่าใช้ชีวิตนอกประเทศ
ผู้ประกอบการรายไหนที่ใช้แรงงานพม่าเยอะหน่อย ก็อาจจะต้องกลับมาปาดเหงื่ออีกครั้ง หลังปาดไปแล้ว 1 รอบ ตอนจ่ายค่าแรงงานไทยเป็นวันละ 300 บาท เพราะถ้าไม่จ้างราคานี้ก็ไม่มีแรงงาน
ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ ในส่วนของแรงงานไทยเองก็ขาดแคลน เนื่องจากปัจจุบันคนไทยไม่นิยมขายแรงงานเหมือนแต่ก่อนแล้ว การพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านที่มีแรงงานล้นเหลือจึงถือเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากในปัจจุบัน เพราะสินค้าบางอย่างก็ใช้เครื่องจักรแทนไม่ได้ ต้องใช้แรงงานคน
เมื่อเหตุการณ์ส่อเค้าเป็นอย่างนี้ ท่านผู้ประกอบการทั้งหลายที่ใช้แรงงานพม่าคงต้องกลับมาวางแผนรับมืออีกครั้งหากต้องปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ว่าต้องทำอย่างไร ธุรกิจจึงจะเดินต่อไปได้หากต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น จะยอมจ่าย หรือจะใช้เครื่องจักรแทน หรือจะย้ายโรงงานไปตั้งอยู่ในประเทศพม่าให้มันรู้แล้วรู้รอดไป ก็คงต้องมาพินิจพิจารณาให้แน่ชัดอีกครั้งว่าทำอย่างไรจะคุ้มมากกว่าเสีย
ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ออกมาเปิดเผยตัวเลขแรงงานต่างด้าวเมื่อช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยใช้แรงงานต่างด้าวระดับล่างมากกว่าร้อยละ 5 หรือมากกว่า 2 ล้านคน เนื่องจากค่าแรงถูกเลยทำให้เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรม
แต่จากการละเลยเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในช่วง 1-2 ที่ผ่านมา จึงทำให้จำนวนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายหายไปจากระบบราว 30% หรือเกือบ 400,000 คน จากจำนวนที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งหลังสุด ที่มียอดขึ้นทะเบียน 1.3 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้กลับประเทศ แต่ไปอยู่อย่างผิดกฎหมาย อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ
เห็นแบบจะจะก็ช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีแรงงานพม่าจำนวนหนึ่งติดค้างอยู่ในอาคารที่พักแบบอดๆ อยากๆ เนื่องจากไม่กล้าออกมาขอความช่วยเหลือเพราะว่ากลัวจะถูกจับ เนื่องจากเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย แต่เมื่อเรื่องแดงแตกขึ้นมาแรงงานพม่าก็แตกกระเจิง ส่วนหนึ่งกลับประเทศ อีกส่วนหนึ่งก็ยังคงอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ในตลาดแรงงานแห่งอื่นต่อไป
การมาเยือนไทยของนางอองซาน ซูจี ในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญกับแรงงานพม่าเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนเมื่อประชากรของประเทศออกมาขอความช่วยเหลือถึงขนาดนี้ นางอองซาน คงไม่นิ่งดูดาย ผลสรุปของการเจรจากับรัฐบาลไทยจะเป็นอย่างไร คาดว่าอีกไม่นานเกินรอคงได้รู้ผล พี่หม่อง น้องมะขิ่น จะเลือกอยู่ประเทศไทย หรือเลือกที่จะกลับไปบุกเบิกพม่าบ้านเกิด ข้อตกลงวิน-วิน เวิร์กที่สุด.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม