วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเป็นจริงของประเทศไทย คมชัดลึก : การเมือง

แม้ว่าเราอาจจะเคยอยากที่จะเห็นหรือนึกฝันว่าประเทศไทยของเรา น่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีความมั่งคั่งจากธุรกิจ หรือเป็นฮับของเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว สิ่งที่ประเทศไทยสามารถเป็นได้ดีที่สุด ก็คือการเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะสินค้าการเกษตรคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงประชาชนชาวไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และสินค้าการเกษตรอีกเช่นกันที่นำเงินตราต่างประเทศมาสู่ประเทศไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นับตั้งแต่เราเปิดประตูประเทศสู่ระบบการค้าเสรี ตามสนธิสัญญาเบอร์นี พ.ศ.2368 และสนธิสัญญาเบาว์ริง ใน พ.ศ.2398

อย่างไรก็ตาม นับแต่ พ.ศ.2501 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ทำให้ภาคเกษตรกรรมลดบทบาทลง คนหนุ่มสาวซึ่งเป็นแรงงานสำคัญของการเกษตรถูกผลักดันเข้าสู่การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ที่ยังคงทำงานตามท้องทุ่งท้องนาก็เผชิญกับความเสี่ยงเรื่องดินฟ้าอากาศโรคพืชและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งราคาพืชผลที่ถูกกดให้ต่ำและขาดความแน่นอน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาหนี้สินพอกพูน การสูญเสียที่ดินทำกินของตนเอง และความยากจนซ้ำซ้อน จนกลายเป็นวังวนอุบาทว์ของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ

ถ้ามองดูที่ตั้งของประเทศไทย เราจะเห็นว่าภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของการเพาะปลูก มีเนื้อที่ถึง 92,795 ตร.กม. ครอบคลุมบริเวณ 22 จังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีแม่น้ำสายสำคัญๆ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำสะแกกรัง ไหลผ่าน และมีลำคลองที่เชื่อมแม่น้ำต่างๆ เช่นคลองรังสิตฯ คลองบางบัวทอง คลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก เป็นต้น มีภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน มีฝนตกปานกลาง อากาศชุ่มชื้น จึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทยมาแต่โบราณกาล แต่ในทางกลับกัน รายได้จากภาคเกษตรเมื่อ 3-4 ปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 9% ของจีดีพี และมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าภาคการท่องเที่ยวในระยะเวลาเดียวกันที่มีตัวเลขประมาณ 3 แสนล้านบาท

นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังประสบภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร และประเทศไทยได้ประกาศตนเป็นครัวของโลก แต่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงคนไทยและชาวโลก ยังไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควรจากภาครัฐ ทั้งขาดการวางแผนการผลิต และการบริหารจัดการสินค้าเกษตร อย่างเป็นระบบเต็มรูปแบบ เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกล่วงหน้า เพื่อการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเรื่องราคาผลผลิต ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยให้เกษตรกรมีหลักประกันที่ดีขึ้น มีรายรับเพิ่มขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

คนไทยแต่ดั้งเดิมนั้นมีชีวิตอยู่กับท้องทุ่งและท้องน้ำ หากทั้งทุ่งนาและสายน้ำได้รับการใส่ใจอย่างจริงจังจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และมีการประสานงานเชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง ก็เชื่อได้ว่าเราจะพัฒนาพื้นที่เพาะปลูก และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ซึ่งนั่นหมายถึงการแสดงบทบาทในการเป็นครัวของโลกอย่างแท้จริง

และพูดกันตามจริงแล้วประเทศไทยของเราจะเป็นอื่นไปไม่ได้หรอกครับ นอกจากเป็นประเทศเกษตรกรรม

www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม