วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มนูญ ศิริวรรณ ตอบคำถาม ค่าภาคหลวงสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยต่ำจริงหรือ?

ข้อกล่าวหาหนึ่งที่แพร่กระจายไปตามสื่อประเภท social media ต่างๆเกี่ยวกับปัญหาพลังงานของประเทศก็คือ ประเทศไทยเก็บค่าภาคหลวงจากบริษัทที่เข้ามาทำการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตน้ำมันในประเทศในอัตราที่ต่ำมาก โดยตัวเลขที่มักจะนำมาอ้างถึงกันบ่อยๆก็คือตัวเลข 12.5% ของรายได้ของผู้รับสัมปทาน ซึ่งมีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าต่ำจนเกินไป ถ้านำไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น มาเลเซีย หรือ แม้แต่กัมพูชา (ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าผู้พูดเอาข้อมูลมาจากไหน และวันนี้กัมพูชาเริ่มขุดน้ำมันหรือยังก็ไม่รู้) และบางประเทศในอเมริกาใต้ อย่างเช่น โบลิเวียหรือเวเนซูเอล่าเป็นต้น ที่เขาเก็บค่าภาคหลวงหรือส่วนแบ่งผลกำไรสูงถึง 50-60% เป็นต้น

ข้อกล่าวหานี้ก็เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านพลังงานที่ปลิวว่อนอยู่ในอินเตอร์เนต คือฟังดูน่าเชื่อถือ มีการยกตัวอย่างและตัวเลขมาสนับสนุนความคิดเห็น และคนอ่านหรือคนฟังมีแนวโน้มที่จะเชื่อข้อมูลที่มาจากแหล่งที่ไม่ใช่ทางการอยู่แล้ว ยิ่งคนพูดหรือคนเผยแพร่ข้อมูลประกาศตัวว่าเป็น NGO หรือองค์กรอิสระ หรือเป็นฝ่ายที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ที่ทำให้น้ำมันมีราคาแพง ก็ยิ่งได้ใจประชาชน ทำให้เชื่อถือข้อมูลเหล่านี้มากขึ้นไปอีก ข้อมูลเหล่านี้จึงกระจายออกไปเหมือนไฟลามทุ่ง และส่งต่อๆกันไปโดยเชื่อว่านี่คือความจริง ซึ่งมันก็คือข้อมูลจริง แต่เป็นข้อมูลที่เป็นความจริงที่ยังไม่ครบถ้วน และเป็นข้อมูลที่นำเอามาตีความเพื่อสนับสนุนความเชื่อของผู้เผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น ยังไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์เปรียบเทียบอย่างเป็นกลางโดยปราศจากซึ่งอคติอย่างที่นักวิชาการพึงกระทำ

ก่อนอื่นผมอยากจะเรียนว่า การตั้งเงื่อนไขในการให้สัมปทานการสำรวจ ขุดเจาะและผลิตพลังงานในประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาดของประเทศนั้นๆ จะตั้งเงื่อนไขอย่างไรก็ได้ จะขอค่าภาคหลวง หรือจะขอแบ่งปันผลกำไรอย่างไรก็ได้ สำคัญว่าตั้งแล้วจะดึงดูดใจให้เขามาลงทุนหรือเปล่า เพราะการลงทุนในธุรกิจนี้ต้องใช้เงินมหาศาลมีความเสี่ยงสูง ขุดหลุมสำรวจบนบกหนึ่งหลุมก็ใช้เงินเป็นหลักร้อยล้านบาทแล้ว และกว่าจะรู้ว่ามีน้ำมันหรือไม่ก็ต้องเจาะสำรวจหลายสิบหลุม ยิ่งเป็นการสำรวจและขุดเจาะในทะเลก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว

ดังนั้นการตั้งเงื่อนไขในการให้สัมปทานรวมทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์จึงขึ้นอยู่กับขนาดหรือลักษณะทางกายภาพของแหล่งพลังงานแต่ละแหล่ง ซึ่งจะมีปริมาณสำรองมากน้อยต่างกัน มีความยากง่ายในการขุดเจาะสำรวจและผลิตต่างกัน แหล่งใดเป็นแหล่งใหญ่ มีปริมาณสำรองเยอะ ขุดเจาะง่าย ต้นทุนในการขุดเจาะ สำรวจและผลิตต่ำ ก็จะเป็นที่สนใจของนักลงทุน และประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรก็จะสามารถตั้งเงื่อนไขหรือเรียกร้องส่วนแบ่งได้มากอย่างนี้เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ลักษณะทางกายภาพของแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศมีสักษณะกระจัดกระจายเป็นแหล่งเล็กๆอยู่เป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นในกระบวนการผลิตจึงต้องทำการขุดเจาะหลุมผลิตหลายสิบหลุม โดยบางแปลงสัมปทานต้องขุดเจาะเป็นร้อยหลุม โดยแต่ละหลุมก็ผลิตน้ำมันดิบได้ในปริมาณไม่มากนัก ดังนั้นต้นทุนในการผลิตจึงสูงกว่าการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งใหญ่ๆอย่างในตะวันออกกลางหรือในอเมริกาใต้ จึงทำให้การแบ่งปันผลประโยชน์ทำได้น้อยกว่า เพราะถ้าไปตั้งเงื่อนไขที่เข้มงวดจนเกินไป ก็จะไม่มีผู้สนใจมาลงทุนขุดเจาะและสำรวจน้ำมันในประเทศ ทำให้เราต้องลงทุนเอง ซึ่งนอกจากมีความเสี่ยงจากการที่อาจไม่พบแหล่งพลังงาน หรือพบแต่ไม่มีปริมาณมากพอในเชิงพาณิชย์แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความเร่งด่วนที่เราต้องการพัฒนาพลังงานในประเทศขึ้นมาทดแทนการนำเข้าอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมได้ตรวจสอบข้อมูลกับกระทรวงพลังงาน การเก็บค่าภาคหลวงจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ก็ไม่ได้กำหนดตายตัวอยู่ที่ 12.5% อย่างที่มีการสื่อสารกันในโลกของอินเตอร์เนต ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนอยู่ในปัจจุบัน

ความจริงแล้วการเก็บค่าภาคหลวงและภาษ๊ปิโตรเลียมจากผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมีดังนี้

1. ค่าภาคหลวง 5-15% ของรายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ผลิต ยิ่งผลิตมากยิ่งจ่ายในอัตราที่สูงขึ้น (progressive rate)

2. ภาษีรายได้ จ่าย 50% ของกำไรสุทธิ ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจอื่นๆจ่ายแค่ 30% และกำลังจะได้ลดลงเป็น 23%

3. ภาษีประเมินเพิ่มพิเศษ (windfall tax) ที่เรียกเก็บเพิ่มในกรณีที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ

จะเห็นว่าระบบภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยก็ไม่ได้แตกต่างหรือล้าหลังไปจากประเทศอื่นๆเลย เพียงแต่สัดส่วนผลตอบแทนอาจน้อยกว่า เพราะแหล่งพลังงานของเราเป็นแหล่งเล็กๆ กระจายออกไปทั่วประเทศ ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นแหล่งใหญ่ๆเหมือนอย่างประเทศที่ร่ำรวยน้ำมัน ทำให้เราไม่มีอำนาจในการต่อรองมากนัก

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลล่าสุดของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ปีที่แล้วประเทศไทยก็สามารถเก็บค่าภาคหลวงรวมทั้งภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นเงินทั้งสิ้น 147,000 ล้านบาท คิดเป็น 58% ของผลประโยชน์ทั้งหมดที่เอกชนได้จากธุรกิจนี้ (หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว)

ดังนั้นผมจึงเห็นว่าระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ในการให้สัมปทานการสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ก็เหมาะสมกับปริมาณทรัพยากรที่เราค้นพบในขณะนี้ดีอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าบ้านเราจะค้นพบแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ในอนาคตเทียบเคียงกับในต่างประเทศ ก็อาจปรับเงื่อนไขในการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เข้มข้นมากกว่านี้ได้

ส่วนทางด้าน NGO และผุ้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่ชอบสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนก็เลิกอ้างตัวเลข 12.5% ได้แล้วนะครับ เดี๋ยวจะเชยไปเสียเปล่าๆ !!!

มนูญ ศิริวรรณ



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม