วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ไร้ยางอาย สภาล้ม

ไฮไลต์เด็ดๆ เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เรียกว่าขายหน้าทั้งแผ่นดินเลยทีเดียว แลดูขัดแย้งกับฉายาของประเทศว่า “สยามเมืองยิ้ม” เพราะเริ่มจะยิ้มกันไม่ออกเลยที่เดียว ขนาดใช้ชื่อ  พ.ร.บ.ปรองดอง  ก็มิได้แคร์สื่อหรือสายตานักลงทุนกว่า 600 คน ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยเอเชียตะวันออก หรือเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 21 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพปีแรก โดยการสร้างภาพฉาวด้วยการทะเลาะกันวุ่นวายกันทั้งในสภาฯ
ส่วนงาน เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ที่จัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ค.ถึง 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ "การกำหนดอนาคตภูมิภาคโดยการเชื่อมโยง" ถือเป็นงานที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพื่อแสดงศักยภาพความสามารถของประเทศ รวมทั้งความพร้อมหลังเกิดปัญหาอุทกภัย ปี 54
รวมทั้ง เป็นเวทีในการรวมตัวของบุคคลสำคัญระดับโลก เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งความปั่นป่วนทางการเงิน การบริหารจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงทางด้านอาหาร และความมั่นคงด้านพลังงานเป็นการผนึกพลังของอาเซียน ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีก 3 ปี ในปี 2558

ภาพรวมภายในงาน ไม่รู้ว่าผลตอบรับจะกลับมาในแบบไหน ทั้งผลสรุปของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุน หรือแม้แต่หัวข้อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่มีเวลาเพียง 3 ปี เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพียงเท่านั้น ซึ่งหลายประเทศที่ออกมาบอกว่าพร้อมๆ แต่ก็ไม่สามารถวัดได้ว่าพร้อมมากน้อยเพียงใด มีอะไรมารองรับ หรือรับรองได้ว่าหากเปิดเออีซีแล้ว จะไม่มีวิกฤติใดๆ เกิดขึ้นเหมือนยุโรปในตอนนี้
ขณะที่งานดังกล่าว หากไม่มี นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่เดินทางเข้าร่วมงานด้วย คงทำให้งานกร่อยไปเลยทีเดียว เพราะการเดินทางมาประเทศไทยของนางอองซาน ซูจี เป็นการออกนอกประเทศพม่าในรอบ 24 ปี ซึ่งเลือกไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง

การที่นางอองซาน ซูจี เดินทางมาร่วมงานในครั้งนี้ ทั้งการที่เลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกในการเยือน รวมถึงการโชว์ศักยภาพในการพูดจาที่บ่งบอกในด้านความคิดของการเป็นผู้นำ ถือว่าคุ้มค่ามากแล้ว ส่วนความสำเร็จของการจัดงาน เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม อาจมองไม่เห็นผลที่จะได้รับกลับมา ว่าจะตอบรับได้มากหรือน้อย
ในทางตรงข้ามกัน คือการล้มเหลวของรัฐสภาไทยในช่วงของการจัดงาน เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม คือ การแย่งเก้าอี้ประธาน ปาเอกสารใส่ประธาน ทะเลาะ ด่าทอ สื่อให้เห็นถึงความล้มเหลวในการปรองดอง แค่คนกลุ่มเล็กๆ ยังห้ำหั่นกัน แล้วจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนได้เช่นไร
อีกทั้ง นอกสภาฯ ยังมีการปิดล้อมรัฐสภา ทำให้ ส.ส.ไม่สามารถเข้าไปประชุมกันได้ ต้องอาศัยตำรวจคุ้มกันกันจ้าละหวั่น บางรายถึงกับต้องมุดรั้วหนีกันเลยทีเดียว ผลมาจาก การชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีก วุ่นวายกันเป็นว่าเล่น
แค่เรื่องในสภาฯ ยังไม่พร้อมขนาดนี้ แล้วเออีซีจะพร้อมได้อย่างไร นี่หรือคือผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาเพื่อเป็นกระบอกเสียง แต่ทำตัวได้แย่ยิ่งกว่าชาวบ้านตาดำๆ เสียอีกลองทบทวนกันดูให้ดี ก่อนจะขายหน้าต่างชาติไปมากกว่านี้.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม