ภาคเอกชน ระบุ ปัญหาความขัดแย้งทำไทยเสียโอกาสหลายเรื่อง แนะรัฐบาลต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน ซึ่งทุกฝ่ายควรจะหาข้อยุติให้ได้ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เนื่องจากไทยหยุดการพัฒนาประเทศมาหลายปี ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสในหลายเรื่อง และการบริหารประเทศก็เสียจังหวะไป
ทั้งนี้ ภาคเอกชนและรัฐบาลจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ หากรัฐบาลมีปัญหาต้องหยุดชะงักการทำงาน การประสานงานร่วมกันระหว่างเอกชนและรัฐบาลก็จำเป็นต้องหยุดไปด้วย จึงอาจทำให้การพัฒนาในภาพรวมต้องหยุดการพัฒนาอีกครั้ง ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของประเทศยังคงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่นักลงทุนก็อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“กระบวนการแก้ปัญหามีอยู่แล้ว จึงต้องการให้ทุกฝ่ายหันมาแก้ปัญหา ทำให้เกิดความสงบ เพราะประเทศไทยมีปัญหามานาน และควรจะมีข้อยุติได้แล้ว” นายพยุงศักดิ์ กล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากสถานการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม ภูมิภาคเอเชียตะวันออก จะเป็นการประจานประเทศไทยให้ต่างชาติเห็น เพราะงานประชุมดังกล่าวมีสื่อต่างชาติร่วมงานจำนวนมาก บรรยากาศความวุ่นวายจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และรวดเร็ว
สำหรับสถานการณ์ขณะนี้แบ่งเป็น 2ส่วน คือ ความวุ่นวายในรัฐสภา กับความวุ่นวาย นอกรัฐสภา โดยความวุ่นวายในรัฐสภา มั่นใจว่านักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ มีความเข้าใจ เพราะไม่แปลกหรือต่างกับของต่างประเทศมากนัก ซึ่งความวุ่นวายในรัฐสภาเป็นเครื่องบ่งบอกว่าประเทศไทยด้อยพัฒนา จากพฤติกรรมของผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกเข้าไป
ขณะที่ความวุ่นวายนอกรัฐสภา แม้ในต่างประเทศจะมีเหตุการณ์คล้ายกัน เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่เชื่อว่าหากเกิดเหตุการณ์เหมือนครั้งที่เสื้อแดงบุกล้มงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จนผู้นำประเทศต่างๆต้องหนีเอาตัวรอดนั้น ภาพลักษณ์ของไทยจะล้มเหลว ทั้งที่มีโอกาสสร้างความเชื่อมั่นทั้งด้านการค้าและการลงทุน
“รัฐบาลต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ ต้องไม่ให้เกิดความวุ่นวายจนภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย เพราะสถานการณ์ประเทศที่ย่ำแย่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศเสียหายไปด้วย”นายธนิตกล่าว
นายธนิต กล่าวว่า กังวลความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันนี้นักลงทุนไทยมีต้นทุนที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง นั่นคือ ความเสี่ยงทางการเมืองที่เอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลมาตลอด ส่วนต้นทุนที่ทุกประเทศเจอคือ เศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ดังนั้นการที่ไทยมีต้นทุนสูงกว่าจะทำให้เสียเปรียบ รัฐบาลจึงไม่ควรเพิ่มต้นทุนดังกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น