วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤติโลกร้อนและภัยพิบัติใกล้ตัวความจริงประเทศไทย

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาก่อให้เกิดปรากฏการณ์การสร้างองค์ความรู้ การเสาะหาข้อมูลด้านภัยพิบัติจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการรับมือเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตาม แต่ในทิศทางเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ต่างฟันธงว่าต่อไปนี้โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู ในนามของโครงการ “Cool The World” ร่วมด้วยสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ (Associate of Natural Disaster Prevention Industry: ANDPI) และบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ได้จัดเสวนา “รับมือวิกฤติโลกร้อน และภัยพิบัติที่ใกล้ตัว” ขึ้นโดยมีวิทยากรคือ คุณปรานต์ สยามวาลา นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และคุณอนุรุธ ว่องวานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู ที่หอประชุมเมืองไทยประกันชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้
คุณปรานต์ กล่าวว่า เพียง 7 ปีที่ผ่านมา ประชากรโลกเสียชีวิตเพราะเหตุภัยพิบัติเป็นล้านคน และในอดีต ตั้งแต่มีมนุษย์ในโลก ยังไม่เคยมีประชากรเกิน 2,000 ล้านคน แต่นับแต่ปี 1960 ที่เกิดภาวะ Baby Boom ประชากรก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จนขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้าน เมื่อถึงปี ค.ศ.2050 คาดว่าประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9,000 ล้านคน

“ค่า CO2 หรือคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ทะยานขึ้นมาตามการเพิ่มของประชากร ซึ่งค่าคาร์บอนได ออกไซด์นี้มีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิของโลกอย่างเห็นได้ชัด เมื่อใดที่ค่า CO2 เพิ่ม ความร้อนของโลกก็เพิ่มตามไปด้วย เมื่อใดที่ค่า CO2 ลด เมื่อนั้นความร้อนของโลกก็ลดลงเช่นกัน เมื่อ 4 แสนปีก่อน ค่า CO2 ไม่เคยเกิน 300 พีพีเอ็ม (ppm). มีแตะ 300 พีพีเอ็ม อยู่ 3 ครั้ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ภาวะโลกอุ่น แต่ขณะนี้ค่า CO2 สูงถึง 390 พีพีเอ็ม และปี 2050 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นเป็น 450 พีพีเอ็ม ”

นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งก็คือก๊าซมีเทน ซึ่งมีความรุนแรงในการทำลายโลกมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 10 เท่า
“ก๊าซมีเทนเกิดจากการสะสมของซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้ว ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะจะสะสมที่ใต้พื้นน้ำลึก 50 เมตร ซึ่งจะทำให้น้ำเย็นมาก และลดปริมาณออกซิเจนในน้ำด้วย จึงเป็นเหตุให้ปลาตายเป็นจำนวนมากอย่างที่เห็นกัน จนเชื่อได้ว่าในอนาคตเราจะไม่มีปลาบริโภค นอกจากนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ตกลงไปในทะเล ก็ยังทำให้น้ำเป็นกรดมาก จนน่าเป็นห่วงว่าจะทำให้ปลาการ์ตูนสูญพันธุ์ในอนาคต เนื่องจากไม่สามารถผสมพันธุ์ได้”

ด้านดร.เสรี กล่าวว่า มักจะมีคนถามเสมอว่า ปี 2555 จะเกิดน้ำท่วมหรือไม่ โดยส่วนตัวก็พยายามกระตุ้นภาครัฐเสมอให้มีการเตรียมพร้อม ซึ่งการเกิดน้ำท่วมนี้จะสัมพันธ์กับอุณหภูมิน้ำทะเล จากข้อมูลทางสถิติ อุณหภูมิในน้ำทะเลช่วง 3 เดือนก่อนเกิดเหตุการณ์ในปี 2553 สูง แต่ปี 2554 สูงจนลบสถิติ ในปี 2553 ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมที่นครราชสีมา หาดใหญ่และภาคกลาง ซึ่งโดยส่วนตัว ผมคิดว่าปี 2553 ท่วมหนักกว่าปีที่แล้ว (ปี 2554) ส่วนในปีนี้จากอุณหภูมิน้ำทะเล คาดว่า ประเทศไทยปลายปีฝนจะน้อยกว่าปกติ แต่อินโดนีเซียและออสเตรเลีย น้ำจะท่วมหนัก ส่วนเรื่องพายุนั้น ในปีนี้จากต้นปีถึงเดือนเมษายน ปรากฏว่ามีพายุเข้ามา 5 ลูก ขณะที่เมื่อปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน มีพายุเข้ามา 2 ลูกเท่านั้น หากดูที่จำนวนพายุทั้งหมด ในปี 2553 พายุเข้ามา 31 ลูก ปี 2554 เพิ่มเป็น 40 ลูก ปีนี้จะมากกว่าหรือเปล่า ยังตอบไม่ได้ เพราะพายุเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้”

ดร.เสรีให้ความเห็นว่า การเตรียมการรับมือต้องทำในภาพรวม โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของการป้องกันน้ำท่วม ถ้าต่างคนต่างทำ เช่น ปีนี้ถ้าอยุธยา หรือจังหวัดต่างๆข้างบน ทำการป้องกันน้ำท่วมทั้งหมด อย่างเช่นนิคมอุตสาหกรรมกั้นหมด 7 นิคม 30,000ไร่ กั้นหมดเลย สุโขทัยสร้างคัน 7 เมตร ริมแม่น้ำยม ถ้าเป็นอย่างนี้ น้ำจากตอนบนก็จะลงมารวมที่กรุงเทพทั้งหมด โดยไม่ต้องรออีก 200 ปีเลย

ดร.เสรียังได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากน้ำท่วมแล้วก็ยังต้องเตรียมการรับมือกับแผ่นดินไหว ประเทศไทยเองมีการติดตั้งระบบทุ่นเตือนภัยสึนามิในทะเล แต่ไม่เคยมีข้อมูลจากทุ่นของประเทศไทยเลย ด้วยปัญหาการดูแลรักษา จึงต้องพึ่งพาข้อมูลของทุ่นเตือนภัยนานาชาติอยู่โดยตลอด

ด้านคุณอนุรุธ ว่องวานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู ในฐานะเจ้าของโครงการ “Cool The World” โครงการที่มีจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นให้ประชาชนส่วนรวมเห็นความสำคัญของปัญหาโลกร้อน และรณรงค์ให้ร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน ในส่วนของธุรกิจ ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ แผนธุรกิจคือการขยายธุรกิจ การเพิ่มยอดขาย อันนั้นคือแพลนA แต่นั่นจะใช้ไม่ได้เมื่อมีภัยพิบัติเข้ามา ก็ต้องใช้แผนสอง คือแพลน B ที่สำคัญก็คือว่าในมิติของธุรกิจตอนนี้เราเตรียมแผนสองไว้ดีพอหรือยัง

และล่าสุดในเวทีปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความจริงประเทศไทย ...(ที่คุณไม่อาจรู้)” ที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ. หรือ GISTDA ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิสารสนเทศหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาพจากดาวเทียมไทย (ธีออส) และดาวเทียมดวงอื่นๆ ทั้งในระบบที่ตามองเห็นและเรดาร์ สามารถใช้ประโยชน์จากการสำรวจและทำแผนที่เพือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำแผนที่ใช้ที่ดิน การประเมินผลผลิตทางการเกษตร การสำรวจหาพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกบุกรุก การสำรวจพื้นที่ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งอุทกภัย แผ่นดินถล่ม และสึนามิ สามารถให้มุมมองจากเบื้องบนเป็นมุมกว้างในกรณีน้ำท่วมสามารถเห็นทิศทางของมวลน้ำและทำให้ทราบสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภัยพิบัติได้ จึงทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ

“ยุทธศาสตร์ในอนาคต GISTDA มีโครงการพัฒนาระบบติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรของประเทศไทยด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 เพื่อความต่อเนื่องของข้อมูล สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทยถึงความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ และต้องมีระบบดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเป็นของตัวเองและมีขีดความสามารพในการรับสัญญาณดาวเทียมได้หลายดวง” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิสารสนเทศหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกถึงเป้าหมายในการทำงาน ที่เป็นอีกมุมในด้านของเทคโนโลยี ที่นำข้อมูลมาใช้บริหารจัดการได้ เป็นแง่จริงอีกด้านที่เราไม่รู้หรือหลงลืม



www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม