วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กรุงเทพฯ 8 พ.ค.- นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวว่า...

กรุงเทพฯ 8 พ.ค.- นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเมื่อประเทศไทยก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในอีก 2 ปี 7 เดือนนั้น ภายใต้บริบทนี้เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะได้เปรียบซัพพลายน้ำตาลที่สามารถส่งออกขายประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม AEC ได้มากขึ้น เพราะจะไม่มีกำแพงภาษีและโควตานำเข้าอีกต่อไป ไทยจึงจะได้เปรียบจากการมีผลผลิตที่มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ส่วนตลาดจีนที่ปัจจุบันผลิตน้ำตาลได้น้อยกว่าความต้องการใช้ มีการใช้น้ำตาลเทียมถึงร้อยละ 50 ดังนั้นประเทศไทยอาจช่วงชิงโอกาสส่งออกน้ำตาลกลุ่มไฮเอ็นเป็นน้ำตาลพิเศษ น้ำตาลอินทรีย์ เป็นต้น ปัจจุบันตลาดสำคัญของไทยคือ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย คู่แข่งคือบราซิล และออสเตรเลีย

ทั้งนี้ผลผลิตอ้อยของไทยแต่ละปีมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนฤดูการผลิตปีนี้ คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยรวม 98 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 10.2 ล้านตันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าฤดูการผลิตปีหน้าจะเท่าๆ กันเพราะราคาดี ชาวไร่สนใจ ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มจาก 11 ตันเศษต่อไร่ เป็นประมาณ 15 ตันต่อไร่ คิดเป็นภาพรวมประมาณ 100-120 ล้านตันอ้อย โดยจะมีแรงผลักดันจากเอทานอล และการผลิตพลาสติกจากน้ำตาล ปัจจุบันไทยแข่งขันกับออสเตรเลียและบราซิล แต่สองประเทศนี้เสียเปรียบด้านโลจิสติกส์ไทยที่อยู่ใกล้ AEC มากกว่า ส่วนตลาดญี่ปุ่นมีการปกป้องชาวไร่อ้อยจากซูเปอร์รีไฟล์จากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ หากราคาน้ำตาลในประเทศไทยถูกว่าราคาในตลาดโลก เพราะราคาขายปลีกควบคุมและกำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์ หากปีใดระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงมาก น้ำตาลในประเทศจะไหลผ่านออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านง่ายและเสรีมากขึ้นจากการเปิด AEC นอกจากนี้ ยังมีปัญหาคนงานอาจเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น จนอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงตามมา เพราะในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า ปริมาณโรงงานน้ำตาลจะเพิ่มอีก 10 โรงงานอุตสาหกรรมนี้ จึงจำเป็นต้องการใช้แรงงานเพิ่มอีกมาก นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังโรคพืช เพราะอาจมีโรคพืชใหม่ๆ ที่จะเข้ามากับการมีพืชผลเกษตรขนส่งเข้ามาในประเทศไทย โรคอ้อยจากต่างประเทศ หรือเชื้อราจะตามมาได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องดำเนินการจัดทำโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายให้เสร็จภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ได้แก่โครงสร้างราคา กฎหมายขายอ้อยและน้ำตาลที่จะรวมเอาเอทานอลและพลาสติกที่เป็นผลผลิตต่อเนื่องเข้าไว้ในกฎหมายด้วย นอกจากนี้ จะจัดให้มีกองทุนเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่จะมีบทบาทดูแลเสถียรภาพชาวไร่ โรงงาน ผู้บริโภคเพื่อเศรษฐกิจรวมของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าดำเนินการได้ทันแน่นอน โดยเฉพาะโครงสร้างราคา ดังนั้นปัญหากองทัพมดลักลอบขนส่งน้ำตาลออกนอกประเทศไม่น่าจะมีเหมือนที่ผ่านมา ในช่วงที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกสูง จนทำให้มีการลักลอบขนส่งน้ำตาลออกนอกประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

สำหรับกองทุนเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะมีขนาดเงินปีละ 15,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งจัดเก็บจากสินค้าน้ำตาล โดยค่ารักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัจจุบันนี้เก็บได้ปีละ 14,000 ล้านบาท ส่วนการชำระหนี้เงินกู้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) คาดว่าจะเสร็จประมาณเดือนสิงหาคมปีหน้า แต่เชื่อว่าจะชำระหมดก่อนกำหนด.- สำนักข่าวไทย



www.mcot.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม