นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ว่า
Fitch ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทของรัฐบาล (Foreign and Local Currency Long-Term Issuer Default Rating: IDR) ที่ระดับ BBB และ A- ตามลำดับ ด้วยแนวโน้มที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) พร้อมทั้งยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะสั้นสกุลเงินตราต่างประเทศของรัฐบาล (Foreign Currency Short-Term Issuer Default Rating) ที่ระดับ F3 และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ BBB+
โดย Fitch เห็นว่า การยืนยันอันดับและแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในครั้งนี้สะท้อนถึงสถานะการเงินต่างประเทศที่เข้มแข็งและสัญญาณของเสถียรภาพทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้งอย่างสันติในปี พ.ศ. 2554 อย่างไรก็ดี Fitch ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมสลายของความโปร่งใสทางการคลังและการบริหารจัดการนโยบายของรัฐ ในขณะเดียวกันภาคธนาคารพาณิชย์ก็ยังถูกจับตามองจากอัตราการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวขึ้นมาก
การเลือกตั้งในปี 2554 ได้เป็นไปอย่างสงบและดำเนินการอย่างเป็นอิสระและยุติธรรม และนำไปสู่การเปลี่ยนโอนอำนาจอย่างมีระเบียบ อย่างไรก็ดี Fitch เห็นว่า ยังเป็นการเร็วเกินไปหากจะสรุปว่าปัญหาการแบ่งแยกทางการเมืองที่หยั่งลึกของประเทศไทยได้รับการแก้ไขแล้ว โดยยังคงเชื่อว่าประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์การเมืองขึ้นได้ ทั้งนี้ Fitch ไม่เห็นว่า ความตึงเครียดทางการเมืองจะเป็นข้อจำกัดต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
Fitch คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 ในปี 2555 หลังจากที่ไม่มีการขยายตัวในปี 2554 จากการที่ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม โดยเห็นว่า เหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบเพียงชั่วคราวต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีหลังของไทยที่ไม่รวมผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงปี 2550 – 2554 ที่ร้อยละ 3.3 ยังคงไม่เข้มแข็งกว่าประเทศในกลุ่ม BBB ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ ร้อยละ 2.9 อย่างชัดเจน โดยประเทศไทยมีความอ่อนแอด้านโครงสร้างในภาพรวมซึ่งรวมถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ต่ำ (เท่ากับ 5,000 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่ากลางของประเทศกลุ่ม BBB เท่ากับ 8,800 เหรียญสหรัฐ) และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำท่วมและนโยบายการค้ำประกันภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะทำให้สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลสูงขึ้นและเข้าใกล้ระดับของค่ากลางของประเทศในกลุ่ม BBB อย่างไรก็ดี Fitch เห็นว่ารัฐบาลมีความยืดหยุ่นสูงในการจัดหาเงินทุน และเชื่อว่าประเทศไทยยังมีความสามารถในการก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบัน โดย Fitch ไม่เห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระดมทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ปรับปรุงและป้องกันน้ำท่วมเป็นผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ Fitch มีความกังวลมากกว่าถึงแนวโน้มในการหันไปพึ่งพาช่องทางการใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น การมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนต่อผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งเพิ่มความกังวลต่อ ความโปร่งใสทางการคลัง
Fitch ยังแสดงความกังวลถึงความไม่เห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่งระหว่าง ธปท. กับรัฐบาลในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยในมุมมองของ Fitch ความไม่ลงรอยกันระหว่างสถาบันหลักเป็นสัญญาณไม่ดีต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและอาจรวมถึงการขาดความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของ ธปท. ในท้ายที่สุด ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในขณะนี้ แต่ Fitch จะจับตามองอย่างใกล้ชิด
อัตราการเติบโตของสินเชื่อได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2554 ที่ร้อยละ 14.9 พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของธนาคารในการพึ่งพาการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและเงินทุนที่ไม่ใช่เงินฝาก ประเทศไทยมีระบบการธนาคารที่ใหญ่โดยเริ่มจากสินเชื่อที่ให้ภาคเอกชนเท่ากับร้อยละ 132 ของ GDP ณ สิ้นปี 2554 ซึ่งเป็น 2 เท่าของค่ากลางประเทศในกลุ่ม BBB ซึ่งหากการเติบโตของสินเชื่อยังคงเป็นไปอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้เกิดข้อกังวลได้ อย่างไรก็ดี Fitch เห็นว่า การจัดการในด้านการกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่งในขณะที่ตัวชี้วัดทางมหภาคที่สำคัญยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เช่น สัดส่วนหนี้เสีย (NPL) อยู่ที่ ร้อยละ 2.7 ณ สิ้นปี 2554 และสัดส่วนความพอเพียงของทุนของระบบธนาคาร (CAR) อยู่ที่ร้อยละ 15.1 ในปี 2554
ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเกิดจากภาคการเงินต่างประเทศที่เข้มแข็ง สถานะการเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิ (Net external creditor position) เท่ากับร้อยละ 41.5 ของ GDP และรายรับต่างประเทศเดินสะพัด (Current external receipt: CXR) เท่ากับร้อยละ 50 ในปี 2554 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าประเทศในกลุ่ม BBB มาก นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศดีกว่าประเทศในกลุ่มอย่างมากเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากภาระ การชำระหนี้ต่างประเทศที่เท่ากับร้อยละ 2.5 ในปี 2554 และภาระการชำระดอกเบี้ยของหนี้ต่างประเทศต่อ CXR ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางของประเทศในกลุ่ม BBB ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4 และ 4.8 ตามลำดับ สถานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่งได้ช่วยในการป้องกันเศรษฐกิจจากผลกระทบที่ไม่คาดฝันจากต่างประเทศได้
Fitch เห็นว่า การเพิ่มความเชื่อมั่นให้มากขึ้นเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการการคลังและการกำหนดกรอบนโยบายในการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนจะส่งผลดีต่ออันดับความน่าเชื่อถือ การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโต การลดการขาดดุลการคลัง และเสถียรภาพของระดับหนี้รัฐบาลจะส่งผลอย่างมากในการสร้างแรงกดดันเชิงบวกต่ออันดับความน่าเชื่อถือ ในทางกลับกัน การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสัดส่วนหนี้รัฐบาลจนสูงกว่าประเทศในกลุ่ม BBB จะส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Fitch มิได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิด นอกจากนี้ หากมีเหตุการณ์ที่แสดงถึงความมีเสถียรภาพทางการเมืองเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลในเชิงบวกต่อความน่าเชื่อถือของประเทศเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เห็นว่า ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ Fitch ในครั้งนี้ยังไม่สะท้อนถึงสถานะที่แท้จริงของประเทศไทยและอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดทำโดยบริษัทรายอื่น ทั้งนี้ สบน. อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางในการปรับปรุงปัจจัย ที่มีผลเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย และจะหารือกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ เพื่อปรับปรุงอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสะท้อนถึงสถานะที่แท้จริงของประเทศไทยต่อไป
www.thannews.th.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น