นางแอนเน็ต ดิกสัน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานการบริหารการเงินการคลังสาธารณะของประเทศไทยว่า ธนาคารโลกสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีความยากจนทางรายได้ลดลงจากเดิมค่อนข้างมาก ประชากรมีรายได้สูงขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ในระดับสูง แทบจะไม่มีการปรับตัวดีขึ้นเลยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ จากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมาจากการกระจุกตัวของการกระจายรายได้ ที่ยังอยู่ในเขตเมืองหลวงมากกว่าต่างจังหวัด โดยมีอยู่ 3 ปัจจัย ที่นำมาสู่ความไม่เสมอภาคประกอบด้วย
1.การกระจุกตัวของงบประมาณและการให้บริการสาธารณะ
2.โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นของไทยมีความซ้ำซ้อนในหน้าที่รับผิดชอบมากเกินไป และ
3.การติดตามและประเมินผลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกเสนอแนะว่า ควรลดความซ้ำซ้อนของอปท. จากปัจจุบัน เนื่องจากอปท. ที่มีประชาชนในความดูแลน้อยกว่า 5,000 คน มีจำนวนมากถึง 3,000 แห่ง ซึ่งการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพต้องมีประชาชนมากกว่า 10,000 คน ขณะเดียวกัน หากควบรวมอปท.ไม่ให้ซ้ำซ้อนมากเกินไปได้ ก็จะทำให้การจัดการด้านงบประมาณจะทำได้ดีขึ้น ทั้งเรื่องการจัดการทางภาษีท้องถิ่นที่จะเพิ่มงบประมาณต่อหน่วยงานได้มากขึ้น แต่รัฐบาลต้องปรับปรุงให้การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น จนถึงหน่วยงานท้องถิ่นไม่มีรอยตะเข็บ เพื่อให้เงินงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
www.matichon.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น