วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แพงทั้งแผ่นดิน...จะจริงเท็จ หรือแค่ตีกิน ดิสเครดิตรัฐบาลแต่คนเดินดินกินข้าวแกงทั่วไทย...

แพงทั้งแผ่นดิน...จะจริงเท็จ หรือแค่ตีกิน ดิสเครดิตรัฐบาล

แต่คนเดินดินกินข้าวแกงทั่วไทย บ่นในทำนองเดียวกัน...ทุกวันนี้ รัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ กำลังทำอะไรที่จะช่วยชาวบ้านได้บ้าง

"ร้านค้าถูกใจ สินค้าราคาธงฟ้า กำหนดราคาข้าวแกง เดินสำรวจราคาสินค้าในตลาด ล้วนแต่เป็นเรื่องไร้สาระ ทำเพียงเพื่อสร้างภาพหาเสียงเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาของแพงให้กับประชาชนได้เลย เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาต้นตอตัวการที่ทำให้ข้าวของแพงได้เลย"

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เจ้าของงานวิจัยเรื่อง "การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย" ในโครงการสำรวจองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม ให้ความเห็นทางวิชาการที่สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกแพงของคนทั่วไป

ในทางวิชาการ ดร.เดือนเด่น ชี้ว่า ของแพงมาจาก 2 สาเหตุเท่านั้น

1. ต้นทุนการผลิตแพงขึ้น...ข้าวของย่อมต้องแพงขึ้นเป็นธรรมดาของกลไกตลาด ซื้อมาแพงย่อมต้องขายแพง

2. ค้าขายผูกขาดเอากำไรมากเกินไป...พ่อค้าโลภเห็นแก่ได้ รับซื้อสินค้ามาถูกแล้วโก่งราคาขายแพง

ณ วันนี้ ประเทศไทยมีอะไรที่เป็นเช่นดังว่านี้มากน้อยแค่ไหน...

หรือมีครบถ้วนทั้งสองประการ

สินค้ามีราคาแพง เพราะต้นทุนแพงขึ้นจริงตามธรรมชาติของกลไกตลาดหรือเปล่า...จะอ้างว่าน้ำมันแพง สินค้าก็ต้องแพง

แต่น้ำมันไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นต้นทุนผลิตสินค้า

ชาวนาปลูกข้าว ต้นทุนการผลิตพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงแพง แต่ผลผลิตที่ได้กลับขายไม่ได้ราคา...ในขณะที่ราคาขายปลีกข้าวสารถุงแพงต่างกันลิบลับ

กำไรส่วนต่างมหาศาลไปตกอยู่ที่ใคร

สินค้าเกษตรที่คนไทยต้องซื้อมากินกันทั่วไทยเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะหมู กุ้ง ไก่ ปลา...คนเลี้ยงเหนื่อยสายตัวแทบขาด ถึงเวลาขายกลับไม่ได้ราคา ต้องออกมาปิดถนนประท้วง

กำไรที่น่าจะได้ทุกอย่างหายไปกับต้นทุนการเลี้ยงหมด ในขณะที่พ่อค้าขายปัจจัยการผลิต รับซื้อสินค้าเกษตรเอาไปขายฟันกำไรมหาศาลอยู่ฝ่ายเดียว

"ตัวอย่างที่เห็นชัด ไข่ที่บ่นกันว่าแพงทุกปี คนเลี้ยงไก่บ่นว่าไข่ถูก ขายไม่ได้ราคา แต่คนกินกลับบ่นว่าไข่แพง ปัญหาเกิดจากตรงไหน

อยู่ที่การผูกขาด คนเลี้ยงบ่นว่าขาดทุนก็เพราะทุกอย่างต้องซื้อของเขาหมด ตั้งแต่พันธุ์ไก่ ยาไก่ อาหารไก่ ถ้าไม่ซื้ออาหารของบริษัทผูกขาด เขาก็จะไม่ขายแม่พันธุ์ให้ อยากจะได้แม่พันธุ์ไก่ไข่ไปเลี้ยงสร้างอาชีพก็ต้องซื้ออาหารไก่ด้วย แบบเดียวกับขายเหล้าพ่วงเบียร์นั้นแหละ

เลี้ยงจนออกไข่ จะขายไข่ก็ต้องขายให้กับบริษัทผูกขาดอีก แถมบริษัทยังทำธุรกิจขายไข่แข่งเองมีร้านมีตลาดของตัวเองอีกต่างหาก ทุกอย่างอยู่ในมือพ่อค้าผูกขาดครบวงจร มีอำนาจกำหนดราคา กดราคารับซื้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยง แล้วไปโก่งขายขูดรีดราคาเอากับผู้บริโภค แบบที่เรียกว่าค้าขายผูกขาดเอากำไรเกินไป"

บ้านเราต้นทุนการผลิตอาหารที่ต้องซื้อมาทำกับข้าวกินกันทุกวัน ผูกขาดขนาดไหน

ปุ๋ยต้นทุนการปลูกพืชผัก...ค้าขายผูกขาด นับดูได้บริษัทต้นน้ำนำเข้าปุ๋ยรายใหญ่มีถึง 4 รายไหม

อาหารสัตว์ต้นทุนเลี้ยงหมู กุ้ง ไก่ ปลา...สินค้าต้นน้ำการค้าขายอยู่ในมือผู้ผลิตกี่เจ้า ผูกขาดไหม

ตรงนี้ต่างหากที่ ดร.เดือนเด่น มองว่า เป็นภาระหน้าที่หลักของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหาต้นตอของแพง...

ไม่ใช่ไปนั่งจับผิดแม่ค้าขายข้าวแกงอาหารตามสั่ง สินค้าปลายน้ำที่ต้องรับกรรมเหมือนคนทั่วไป ด้วยต้องซื้อสินค้าผูกขาดราคาแพง มาปรุงอาหารขาย...ซื้อมาแพงย่อมต้องการแพง ตามกลไกตลาด

เดือนเด่น


"ข้าวแกงเป็นตลาดที่มีการแข่งขันเสรีสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับเขา แต่ที่การค้ามีการผูกขาดสมบูรณ์ แข่งขันไม่เสรี ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก กระทรวงพาณิชย์กลับไม่เข้าไปดูแลตามกฎหมายในหน้าที่ของตัวเอง"

กฎหมายที่ว่า...พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542

เป็นกฎหมายจัดการปัญหาการค้าผูกขาดฉบับใหม่ มีความทันสมัยกว่าฉบับเก่า (พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522) ที่ไม่สามารถจัดการกับธุรกิจผูกขาดสมัยใหม่ ที่มาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้อำนาจเหนือตลาดกีดกันคู่แข่ง ควบรวมกิจการคู่แข่ง ตั้งบริษัทขึ้นมาให้ดูหลากหลายแต่ทำธุรกิจรวมหัวฮั้วการผูกขาดรังแกคู่แข่ง

ถึงจะเป็นกฎหมายที่ทันสมัย แต่ผลงาน 13 ปีที่ผ่านมา กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถจัดการกับพ่อค้าผูกขาดเกลื่อนประเทศได้แม้แต่กรณีเดียว

นอกจากไม่เคยดำเนินคดีใดๆ กับพ่อค้าผูกขาดได้แล้ว...งานง่ายๆ แค่ทำตามกฎหมาย ออกกฎระเบียบ กำหนดกฎเกณฑ์เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด ตามมาตรา 8 ที่กำหนดไว้ให้ ทำแค่เพียง 5 ข้อ

นับแต่กฎหมายออกมาบังคับใช้ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีความรู้ความสามารถ ออกประกาศ กฎระเบียบได้แค่ 2 ข้อ...13 ปี ทำได้แค่เนี้ย

หวังว่าการจัดการปัญหาผูกขาดตามกฎหมายใหม่ คงจะไม่เหมือนกับที่เคยทำมา เมื่อครั้งยังใช้กฎหมาย พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522

กฎหมายฉบับนั้นใช้มา 20 ปี กระทรวงพาณิชย์ มีความสามารถกำหนดให้ ธุรกิจขายส่งน้ำแข็ง เป็นธุรกิจเดียวในประเทศไทยที่ต้องถูกควบคุม เพื่อป้องกันการผูกขาด

นี่แหละความสามารถของข้าราชการไทย...หน้าที่มีแต่ไม่ทำ ขยันจะทำอะไรที่ใช้งบ

ไหนๆ นายกฯก็กระหนาบกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว ขยันเหลือเกินประกาศภัยหนาว ภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม เพื่อจะได้ใช้สิทธิเอางบประมาณไปถลุงกัน

ข้าวของที่แพงๆ ไม่แก้ที่ต้นตอลดผูกขาดให้ขายแพง เพื่อจะได้อ้างเบิกงบมาทำโครงการธงฟ้าถลุงกัน อีหรอบเดียวกันนั่นแหละ.

www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม