จับตาจุดเปลี่ยนธุรกิจประกันชีวิต ทุนนอกถาโถม วงในชี้ทั้ง "ญี่ปุ่น-จีน-อเมริกาเหนือ" พาเหรดไล่ช็อป เผยตลาดมีโอกาสโตอีกเพียบ เหตุคนไทยทั้งประเทศซื้อประกันแค่ 27% กลุ่มพรูเด็นเชียลลุ้นเข้าวินซื้อ "ธนชาตประกันชีวิต" ต่อยอดธุรกิจแบงก์แอสชัวรันซ์ ฟากไอเอ็นจีฯขยับรอผู้ถือหุ้นใหม่ ด้านไทยพาณิชย์ประกันชีวิตยอมรับมีต่างชาติหลายรายรุมจีบ
หลังจากมีข่าวมาระลอกหนึ่งแล้ว สำหรับ "บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด" ที่มีแนวโน้มว่า ธนาคารธนชาตมีแผนจะตัดขายธุรกิจประกันชีวิตออกไป พร้อมกับให้สิทธิผู้ซื้อในการทำธุรกิจแบงก์แอสชัวรันซ์ร่วมกัน โดยมีสาขาของธนาคารพันธมิตรรวมเกือบ 700 แห่งเป็นหน้าด่านในการขายบนฐานลูกค้าของธนาคารที่มีกว่า 4 ล้านราย
แหล่งข่าวจากวงการประกันชีวิตแห่งหนึ่งให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งให้ความสนใจธนชาตประกันชีวิต อย่างกรณีบริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด แต่ล่าสุดที่มาแรงก็คือกลุ่มพรูเด็นเชียลจากอังกฤษ ที่มีรายงานว่าเตรียมเงินมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) เข้ามาซื้อกิจการส่วนนี้จากธนาคารธนชาต
"ถือว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ที่กลุ่มพรูเด็นเชียลจะคว้าดีลนี้ไป เพราะค่อนข้างลงตัวในแง่ที่มีฐานธุรกิจอยู่ในประเทศไทยแล้วระดับหนึ่งก็คือ บมจ.พรูเด็นเชียลประกันชีวิต (ประเทศไทย) หากได้ธุรกิจส่วนนี้จากบริษัท ธนชาตประกันชีวิตเข้ามาเพิ่ม ก็จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อีกมาก โดยเฉพาะในช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์" แหล่งข่าวกล่าว
โดยปัจจุบันบริษัท พรูเด็นเชียลฯ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจแบงก์แอสชัวรันซ์ กับธนาคารยูโอบี และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) แต่ทั้งสองธนาคารก็ยังมีขนาดเล็ก ยอดขายประกันชีวิตที่สร้างได้ ก็จะสอดคล้องไปตามปริมาณสาขาที่มีไม่มาก หากดีลในความร่วมมือกับธนาคารธนชาตได้สำเร็จ ก็จะทำให้บริษัท พรูเด็นเชียลฯ มียอดขายได้ชัดเจนกว่า
ญี่ปุ่น-จีน-อเมริกา สนใจลงทุน
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในเวลานี้ธุรกิจประกันชีวิตที่สนใจและมีศักยภาพจะเข้ามาลงทุนในตลาดประกันชีวิตของไทยยังมีอีกหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มญี่ปุ่นที่ต้องการออกมาทำธุรกิจนอกประเทศ เพราะตลาดประกันชีวิตในญี่ปุ่นอิ่มตัวมาก อัตราการถือครองกรมธรรม์เทียบกับประชากรสูงถึง 300% และเศรษฐกิจก็ไม่ได้ขยายตัว
เมื่อวิเคราะห์ภาพธุรกิจประกันชีวิตจากญี่ปุ่นแล้ว ปัจจุบันเข้ามาลงทุนในไทยอยู่ไม่มาก มีเพียง บมจ.โตเกียวมารีน ประกันชีวิต (ประเทศไทย) ที่เข้ามาเปิดบริษัทโดยตรง นอกนั้นเป็นการเข้ามาร่วมถือหุ้น เช่น กลุ่มนิปปอน ไลฟ์ ที่เข้ามาร่วมถือหุ้นใน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต และกลุ่มไดอิชิ ที่ถือหุ้นในบริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด รวมถึงกลุ่มอเมริกาเหนือ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพและเงินทุนแข็งแกร่ง โดยมีแบรนด์ธุรกิจประกันชีวิตชื่อดังหลายรายที่ยังไม่ได้เข้ามารุกตลาดไทย อาทิ MetLife และ Sun Life จากแคนาดา รวมถึงยังมีแบรนด์จากแคนาดาอย่างแมนูไลฟ์ ซึ่งก็มีธุรกิจประกันชีวิตในไทยแล้ว แต่ค่อนข้างเล็ก
นอกจากนี้ ธุรกิจประกันชีวิตจากจีน ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพ ในจังหวะที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ทำให้มีเงินทุนพร้อมจะขยายธุรกิจได้เพิ่มขึ้นทั้งในและออกไปสู่ต่างประเทศ
ความน่าสนใจของอุตสาหกรรมประกันชีวิตไทย อยู่ที่โอกาสการเติบโตของธุรกิจยังมีอีกมากในอนาคต เพราะข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ธุรกิจประกันชีวิตมีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ ณ 31 มกราคม 2555 จำนวน 17,873,413 ราย คิดเป็นอัตราส่วนจำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 27.48% เท่านั้น จึงยังมีโอกาส ขยายตัวได้อีกมาก
SCBLife รับมีต่างชาติจีบ
ขณะที่ทุนใหม่หลายกลุ่มกำลังจะเข้าไทย แต่ปีที่แล้วธุรกิจประกันชีวิตยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอีกแห่งหนึ่งก็ตัดสินใจถอนตัวออกไป โดยกลุ่มนิวยอร์คไลฟ์ได้ขายหุ้น บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ (เปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต) ที่ถืออยู่ 47.33% กลับคืนให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนถอนตัวออกไปจากตลาดนี้
นายวิพล วรเสาหฤท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทไม่มีแผนจะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีความแข็งแกร่งเพียงพออยู่แล้ว โดยเฉพาะการมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การทำตลาดก็จะเน้นผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์เป็นหลัก แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามสร้างโมเดลฝั่งตัวแทนขึ้นมาใหม่ ที่เป็นลักษณะเฉพาะของบริษัทเช่นกัน
"ยอมรับว่าที่ผ่านมามีบริษัทประกันชีวิตต่างชาติติดต่อเข้ามา 2-3 ราย ทั้งญี่ปุ่นและยุโรป แต่เราก็ไม่ได้คุยเลย เพราะนโยบายทางแบงก์แม่ก็มองว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องร่วมหุ้นในเวลานี้"
สำหรับกรณีที่การจ่ายปันผลครั้งล่าสุดมูลค่าถึง 30 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 1,995 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 80% ของกำไรสุทธิ นายวิพลอธิบายว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งสำรองไว้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้มากพอสมควร ขณะเดียวกันก็ถือเป็นบรรษัทภิบาลที่บริษัทจะต้องตอบแทนผลประโยชน์ทุกฝ่าย รวมถึงผู้ถือหุ้นด้วย
ใช่ว่าแบงก์ถือหุ้นใหญ่แล้วจะปล่อยให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเป็นอย่างไรก็ได้ รวมถึงข้อดีอย่างมากของการที่มีแบงก์ถือหุ้นใหญ่ ก็คือทำให้บริษัทไม่ต้องกังวลมากนัก หากมีความจำเป็นต้องระดมทุนในอนาคต
ไอเอ็นจีฯรอผู้ถือหุ้นใหม่
ส่วนกรณี "ไอเอ็นจีประกันชีวิต" ก็อยู่ในจังหวะที่จะมีการปรับเปลี่ยนภายใน อันเป็นผลมาจาก "ไอเอ็นจีกรุ๊ป" บริษัทแม่แยกขายธุรกิจประกันชีวิตและกองทุนรวมไป เก็บเอาไว้เฉพาะธุรกิจธนาคาร
อย่างไรก็ตาม นายพูลลาภ เพ็ญกิตติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานประกันชีวิตผ่านธนาคาร บริษัท ไอเอ็นจีประกันชีวิต จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อลูกค้า ปัจจุบันบริษัทก็ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการขายผ่านตัวแทน แบงก์แอสชัวรันซ์ที่ร่วมกับธนาคารทหารไทย และไดเร็กต์มาร์เก็ตติ้ง
"ตอนนี้เราไม่ควรไปคิดเรื่องที่ไกลตัว เพราะการซื้อ-ขายกิจการ ถือเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ และทุกการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ เสมอ ซึ่งธุรกิจที่จะขายนี้มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านยูโร คนที่จะซื้อ ก็คงไม่ธรรมดา เขาคงไม่เอาไปต้มยำทำแกงให้มันเสียหาย ในทางตรงกันข้าม จะต้องบริหารให้เติบโตคุ้มกับเงินลงทุน ถ้าเราทำธุรกิจตรงนี้ให้ดี เจ้าของธุรกิจที่มาใหม่ ก็ย่อมต้องพอใจในธุรกิจนี้มากขึ้นอยู่แล้ว" นายพูลลาภกล่าว
www.prachachat.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น