วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้...

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนมิ.ย.นี้ ทีทีอาร์เตรียมจัดประชุมหารือจับคู่ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างเอกชนไทยและพม่า (บิซิเนส แมตชิ่ง ฟอรั่ม) หลังจากเมื่อช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ทีทีอาร์ได้เดินทางพร้อมกับเอกชนไทยหลายราย ทั้งด้านอุตสาหกรรม พลังงาน ท่องเที่ยว และบริการ ไปยังประเทศพม่า เพื่อจับคู่การลงทุน ซึ่งพบว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งทางรัฐบาลพม่าก็พร้อมที่จะส่งเสริมและเชิญชวนนักธุรกิจจากไทยเข้าไปลงทุนในทุกด้าน

"การเดินทางไปพม่าครั้งที่แล้ว ยังมีเอกชนที่ไม่ได้ไปอีกหลายรายและทุกรายสนใจจะเข้าไปลงทุนในพม่า เพราะพม่าก็เปิดรับให้เอกชนไทยเข้าไปอย่างเต็มที่ และไทยถือว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่พม่าให้ความร่วมมือ จึงคิดจะจัดงานขึ้นอีกครั้งที่ไทย เพราะหลังจากพม่าเปิดประเทศยืนยันว่าเขามีทรัพยากรมากอยู่แล้ว ดังนั้นหากไทยจะเข้าไปลงทุนก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร" นายโอฬารกล่าว

สำหรับธุรกิจที่มีความพร้อมในการลงทุน และทางพม่าพร้อมที่จะสนับสนุน มีประมาณ 4 ธุรกิจคือ 1.ธุรกิจด้านการเกษตร หลังเห็นว่าพม่ามีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่จะถูกใช้ไม่หมด ดังนั้นเอกชนไทยที่สนใจอาจจะไปร่วมลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนทางด้านเหนือ ซึ่งมีพื้นที่ที่จะเพาะปลูกได้อีกมาก 2.ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งล่าสุดทางเครือสหพัฒน์ แสดงความพร้อมจะไปตั้งโรงงานผลิตแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจด้านอาหารหลายรายยังให้ความสนใจเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานอีกด้วย

3.ธุรกิจขนาดใหญ่ด้านพลังงาน เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ก็ให้ความสนใจเข้าไปลงทุนด้านพลังงาน และปิโตรเคมี ที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย 4.ธุรกิจท่องเที่ยวหลายรายให้ความสนใจที่จะเข้าไปจัดตั้งโรงแรม นอกจากนี้ทางพม่ายังอยากให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเข้าไปลงทุนในพม่าด้วย โดยเฉพาะโรงงานผลิตรถสามล้อ และรถบรรทุกขนาดเล็ก หลังพบว่าพม่ามีความต้องการรถยนต์ชนิดนี้เป็นอย่างมาก

นายโอฬารกล่าวว่า การจะเข้าไปลงทุนในพม่าถือเป็นผลดี โดยเฉพาะการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้า ซึ่งมองว่าในธุรกิจด้านอาหารน่าจะเติบโตมากที่สุด เพราะชาวพม่าส่วนใหญ่ใช้สินค้าจากประเทศไทยหลายประเภท และหากเอกชนไทยเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแล้ว จะช่วยในเรื่องของต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าประเทศไทยด้วย

"ทีทีอาร์ได้พยายามหานักธุกิจของไทยที่จะเข้าไปลงทุน โดยพร้อมจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องคอยอำนวยความสะดวก รวมทั้งส่งเสริมและดูแลธุรกิจทุกประเภท ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ของทั้งสองประเทศก็มีแนวทางการส่งเสริมที่สอดคล้องกันอยู่แล้ว ทำให้เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหา" นายโอฬารกล่าว

www.prachachat.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม