โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์ ชลลดา อิงศรีสว่าง
เรื่องเล็กที่รัฐบาลมองข้าม แต่กำลังจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในเร็วๆ นี้ คือ เรื่องที่ประเทศไทยขึ้นแบล็กลิสต์ จัดอยู่กลุ่มประเทศ “สีเทา” ที่ The Financial Action Task Force (FATF) องค์กรต่อต้านการฟอกเงินโลก ได้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่กฎหมายฟอกเงินยังไม่ดีพอ เพราะยังไม่ต่อต้านตัดทางการฟอกเงินจากการก่อการร้าย
เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ. 2555 แต่ไม่มีคนในรัฐบาลใส่ใจจะแก้ไข คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงไม่มีการติดตามแก้ไขในเรื่องนี้
ผ่านมา 3 เดือน เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศไปแล้ว เมื่อคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) ทั้งสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย ออกมาบอกว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฟอกเงินที่นานาชาติไม่ยอมรับแล้ว
ผลกระทบที่ไทยสอบตกมาตรฐานการจัดการฟอกเงิน และการต่อต้านการก่อการร้าย เพราะขาดเครื่องมือด้านกฎหมายที่เป็นมาตรฐานระดับสากลเข้ามาที่จะจัดการ ทำให้เกิดการตอบโต้จากนานาชาติที่จะเข้มงวดการตรวจสอบธุรกรรมการเงิน และรุนแรงถึงขั้นปฏิเสธการทำธุรกรรมด้านการเงิน
ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีสถาบันการเงินในต่างประเทศบางแห่งสั่งระงับการทำธุรกรรมกับประเทศไทยแล้ว
อีกทั้งมีสถาบันการเงินในต่างประเทศบางแห่งเริ่มขอข้อมูลรายละเอียดในการทำธุรกรรมทางการเงินจากสถาบันการเงินไทยมากขึ้น และการติดต่อการทำค้าขายระหว่างประเทศผู้ค้าในต่างประเทศเริ่มไม่แน่ใจว่าควรจะส่งเงินเข้ามาชำระค่าสินค้าหรือไม่
ความพยายามเฮือกสุดท้าย “ไทย” ต้องแสดงความชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับปัญหาการฟอกเงินและการต่อต้านการก่อการร้ายให้ชัดเจน ตอนนี้เหลือเวลาไม่ถึง 1 ปี ไทยต้องดิ้นให้หลุดจากการถูกขึ้นบัญชีสีเทา ภายในเดือน ก.พ. 2556 ที่คณะพิจารณา International Coope ration Review Group (IRCG) ซึ่งเป็นคณะทำงานย่อยของ FATF จะพิจารณาทบทวนฐานะประเทศไทยอีกครั้ง
หากรัฐสภาไม่ผ่านร่างกฎหมายฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายให้ทันเวลา นับว่าสัญญาณอันตรายที่ไทยเตรียมตัวได้ที่จะต้องก้าวสู่จากบัญชีสีเทาเป็นบัญชีสีดำ หรือแบล็กลิสต์ ขึ้นแท่นประเทศเสี่ยงฟอกเงินอย่างเต็มขั้น
นั่นหมายความว่านานาประเทศจะเพิ่มความเข้มงวดเป็นเท่าทวีคูณในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน ทั้งด้านการค้า และการลงทุน ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล
ผลที่จะกระทบตามมาในอนาคตจะมีทั้งต่อการค้าระหว่างประเทศ ที่การทำมาค้าขายอาจจะไม่คล่องตัว ไม่สะดวกเหมือนก่อน โดยเฉพาะผู้ส่งออกและนำเข้าจะเจอปัญหาก่อน
และตามมาด้วยผลกระทบภาคประชาชน ที่จะทำให้คนไทยไม่สามารถใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศได้ เพราะสถาบันการเงินในต่างประเทศไม่รับทำธุรกรรมกับไทย ซึ่งมีความเสี่ยงกับการฟอกเงิน
ที่ผ่านมาภาคเอกชนรวมตัวในนาม กกร. ออกมาตอกย้ำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญการออกกฎหมาย 2 ฉบับนี้
ในขณะที่รัฐบาลยังมองไม่เห็นภาพความสำคัญ แม้กระทั่งตัวนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กกร.ได้ยื่นหนังสือมาแล้วครั้งหนึ่งเรื่องก็ยังเงียบหาย และในเร็วๆ นี้ภาคเอกชนจะยื่นหนังสือให้ “ยิ่งลักษณ์” เพื่อกระทุ้งอีกครั้ง ให้ช่วยเร่งผลักดันและเห็นความสำคัญของกฎหมายสองฉบับนี้
ส่วนความคืบหน้าของกฎหมายฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้าย ตอนนี้ถือว่าได้ผ่านยังไม่ถึงครึ่งทาง อยู่ที่ 4 ขั้นจาก 9 ขั้นแล้ว โดยเป็นร่างที่เป็นที่ยอมรับทั้งของสากล ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือเอฟเอทีเอฟ ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบได้ภายในเดือน มิ.ย. 2555 นี้ ก่อนเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรออกเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลาเท่าใดแต่หวังว่ากฎหมายจะมีความคืบหน้าและใช้ได้ทันในเดือน ม.ค.2556 เพราะคณะทำงานอินเตอร์เนชั่นแนล โคโอเปอเรชั่น รีวิว กรุ๊ป (ไออาร์ซีจี) ซึ่งเป็นคณะทำงานย่อยของเอฟเอทีเอฟในการพิจารณาประเทศที่อยู่ในกลุ่มบัญชีสีเทาจะพิจารณาอีกครั้งในเดือน ก.พ.2556 นี้
ปัจจุบันในภาคของธนาคารไทยเองมีความพร้อมอยู่แล้วในการที่จะอายัด ระงับธุรกรรมการเงินของผู้ต้องสงสัยว่าก่อการร้าย แต่ที่ผ่านมา ไม่สามารถจะทำได้เพราะไม่มีกฎหมายรองรับตรงนี้ ทาง FATF เองก็ต้องการให้ทุกอย่างดำเนินไปได้เร็ว แต่ไทยทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ
ทั้งนี้ ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชี 5 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน อินโดนีเซีย กานา และแทนซาเนีย และไทย ในรายชื่อประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงิน
สำหรับผลกระทบจากการถูกกำหนดรายชื่อให้เป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย จะทำให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศจะต้องมีขั้นตอน และมีการตรวจสอบเอกสารมากขึ้น ซึ่งส่งผลถึงระยะเวลาในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นในภาพรวมจะเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และอาจรวมถึงความยากลำบากของคนไทยในการทำธุรกรรมกับต่างประเทศ
และไม่สามารถมีกฎหมายออกมาได้ทันเดือน ก.พ. 2556 และไทยถูกประกาศขึ้น “บัญชีดำ” แล้วต้องถูกตัดขาดการทำธุรกรรมการเงินและการค้ากับนานาประเทศ ยิ่งสร้างความเสียหายมหาศาลทั้งธุรกิจเศรษฐกิจรวมทั้งภาพลักษณ์ของประเทศ
เรื่องนี้ยังมีเวลาให้รัฐบาลกลับตัวให้ทัน และรีบหยิบยกกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณา อย่ามัวแต่ผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งช้ามากเท่าไหร่ความเสียหายต่อประเทศจะทวีมูลค่ามากขึ้นเท่านั้น
ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก คิดเป็น 60% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แค่เงินบาทอ่อนค่ารัฐบาลก็ไปกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลแก้ไขด่วน แต่เรื่องสำคัญมากขนาดนี้รัฐบาลกลับให้ความสนใจน้อยเกินไป
www.posttoday.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น