วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เกษตรกรไทยหลายคนเลือกใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก เพราะซื้อง่าย ใช้สะดวก...

เกษตรกรไทยหลายคนเลือกใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก เพราะซื้อง่าย ใช้สะดวก แต่ลืมคิดถึงผลที่เกิดขึ้นทั้งการตกค้างในผลิตผลทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม และร่างกายของสิ่งมีชีวิต

คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร จึงได้เปิดเวทีสัมมนาเรื่อง โลกยุคที่ 4 นาโนเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งด้านอุตสาหกรรมนาโนจุลินทรีย์เขตร้อนชื้น เพื่อให้ความรู้กับภาคประชาชน และปรับความคิดให้หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

:เคมีตกค้าง

นายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากการติดตามของคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเรื่องการนำเทคโนโลยีไบโอชีวภาพมาใช้กับการเกษตรของไทยมาตลอด 10 กว่าปี พบว่าปัจจุบันการใช้งานยังเป็นกลุ่มขนาดเล็ก มีทั้งที่ใช้แล้วได้ผลดี และไม่ค่อยได้ผล

“อนาคตเกษตรกรไทยจำเป็นต้องหันมาใช้จุลินทรีย์ชีวภาพในการเพาะปลูก เพราะที่ผ่านมาการบริโภคผักผลไม้แบบเกษตรเคมี เกิดปัญหาสารตกค้างทั้งในผักและร่างกายเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภค จนเกษตรกรป่วยและเสียชีวิตจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมากขึ้น”ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

ที่ผ่านมาประชาชนมีความรู้ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์ชีวภาพน้อยมาก จะเข้าใจในบทบาทของปุ๋ยอินทรีย์มากกว่า เพราะมีการใช้งานในรูปของปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกกันมานานแล้ว แต่เชื่อว่าหากมีหน่วยงานที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีจุลินทรีย์เข้าไปอธิบายถึงทฤษฎีความรู้และการใช้งานที่ถูกต้อง ประชาชนจะสามารถเข้าใจและจัดการกับผลผลิตของตนด้วยความรู้ใหม่ได้ไม่ยาก

ปัจจุบันการนำเทคโนโลยีจุลินทรีย์ชีวภาพมาใช้ทางการเกษตร มีความก้าวหน้ามากขึ้นไม่ต่างจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะเทคโนโลยีจุลินทรีย์ของไทยที่นักวิจัยมีการสร้างองค์ความรู้ในการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความจำเพาะสำหรับพืชแต่ละชนิด เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ที่หลากหลาย

ตัวอย่างความสำเร็จของงานวิจัยด้านการพัฒนาจุลินทรีย์ชีวภาพของไทยที่มีการศึกษาวิจัยและพร้อมนำไปขยายผลใช้งานจริงแล้ว เช่น จุลินทรีย์สำหรับข้าว จุลินทรีย์สำหรับไม้ดอก จุลินทรีย์สำหรับยางพารา จุลินทรีย์สำหรับผักและผลไม้ เป็นต้น

:พลิกนาไร่สู่เกษตรอินทรีย์

คนที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการผลักดันคือ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนในรัฐบาล โดยช่วยกันปรับให้สังคมเกษตรกรรมของไทยเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์จากเดิมที่เป็นเกษตรเคมี เพื่อตอบโจทย์ปัญหาด้านสุขภาพของเกษตรกรไทยที่ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมายาวนาน รวมถึงทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีจุลินทรีย์ชีวภาพให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและยอมรับที่จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในระยะยาว

“อุปสรรคสำคัญของการนำจุลินทรีย์ไปใช้งานทางการเกษตรของไทย การขาดความรู้ของเกษตรกรไทยทั้งเรื่องของหลักการใช้งาน ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสารเคมี ระบบซื้อขายที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานจริง ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้การใช้จุลินทรีย์ของเกษตรไทยกระจุกตัวในกลุ่มคนขนาดเล็ก แม้จะมีเวทีสัมมนาให้ความรู้ในวงกว้างแค่ไหนก็ตาม”ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้เกษตรกรไทยหันมาใช้ปุ๋ยจุลินทรีย์ได้ยาก แม้ว่าราคาของปุ๋ยจุลินทรีย์จะถูกกว่าปุ๋ยที่ส่วนผสมของยูเรียถึง 10 เท่าคือระบบการซื้อขายปุ๋ยแบบเงินเชื่อ ที่เกษตรกรเป็นหนี้สินหมุนเวียนไม่มีวันจบสิ้น หากมีระบบการซื้อขายของปุ๋ยจุลินทรีย์ที่เอื้อต่อการนำไปใช้ในแบบเดียวกันอาจจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้มากขึ้นก็ได้

นายพงษ์เทพ อันตริกานนท์ อดีตรองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลักดันให้เกษตรกรไทยหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพในการเพาะปลูกได้สำเร็จ จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงเงินทุน และมีการพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ที่จดลิขสิทธิ์เป็นของไทยเองเพื่อลดการนำเข้า

อุปสรรคสำหรับผู้ผลิตจุลินทรีย์ชีวภาพที่ผ่านมาคือ กฏหมายที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งในอนาคตจะต้องมีการปรับแก้ เช่น เนื้อหาบางตอนที่ระบุว่าผลิตภัณฑ์จะต้องมีจุลินทรีย์จำนวนเท่าไหร่จึงได้มาตรฐาน

แต่เมื่อจุลินทรีย์ถูกขนส่งไปยังผู้ใช้งานอาจถูกความร้อนทำลายจนตัวเชื้อจุลินทรีย์จนลดลงก่อนถึงมือผู้ใช้เมื่อทำการสุ่มตรวจคุณภาพจึงลดลงและไม่ได้มาตรฐานนั่นเอง ซึ่งนักวิจัยที่เกี่ยวข้องจะต้องพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ให้มีความความคงตัวให้มากกว่าเดิมด้วย

“หากนักวิจัยพัฒนาและผลิตจุลินทรีย์ชีวภาพทางการเกษตรที่เป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยได้สำเร็จ เทคโนโลยีนี้จะเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรไทยอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาการส่งออกผักและผลไม้ถูกจำกัดด้วยเรื่องของสารเคมีปนเปื้อนทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมส่งออกเป็นมูลค่ามหาศาล”อดีตรองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวและว่า หากผู้ผลิตเชื้อจุลินทรีย์ของไทยมีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง ไม่เพียงที่เกษตรกรจะมีเชื้อจุลินทรีย์ราคาถูกใช้งาน แต่บริษัทที่จำหน่ายจุลินทรีย์ก็จะอยู่ได้ด้วยเช่นกัน



eureka.bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม