วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศาลรัฐธรรมนูญ-ล้มล้างการปกครอง

มีผู้ให้ข้อคิดไว้ว่าความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกจนกระทั่งการรบราฆ่าฟันทำลายชีวิตกัน เหตุใหญ่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความโกรธแค้นแต่อย่างใด หากแต่เป็นเหตุของความกลัวและความตกใจมากกว่า จากมุมมองเรื่องความกลัวและความตกใจนี้จึงเกิดการคาดการณ์และจินตนาการไปต่างๆนานาจนแปลออกมาเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงได้!

ในการฟ้องร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องล้มล้างการปกครองที่ได้วินิจฉัยผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ผลก็ปรากฏอย่างที่ทราบกันดีคือ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าตัวเองมีสิทธิที่จะรับเรื่องฟ้องร้องดังกล่าวได้โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด หมายความว่าประชาชนที่ต้องการรักษารัฐธรรมนูญ ถ้าเห็นอะไรไม่ชอบมาพากลในเรื่องของความมั่นคงและการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็สามารถฟ้องร้องได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที

ข้อนี้ศาลอ้างว่าจำเป็นต้องมองในแง่การรักษาสิทธิประชาชนเอาไว้เป็นหลัก เพราะประชาชนนั้นจะต้องปกป้องรัฐธรรมนูญเอาไว้ และอีกประการนั้นศาลไม่ได้มีหน้าที่วินิจฉัยแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องยับยั้งและบอกเตือนระงับยับยั้งแก่ผู้ที่คิดจะล้มล้าง และในการบอกเตือนนั้นก็จำเป็นต้องบอกในระหว่างที่กิจกรรมยังดำเนินอยู่ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่าตัวเองทำถูกต้องแล้วที่ได้ระงับไม่ให้รัฐสภาลงมติในวาระที่ 3 รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าปล่อยให้มีการลงมติ และเกิด ส.ส.ร. ขึ้นมา ก็อาจจะเป็นการสายที่จะระงับยับยั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้

ดังนั้น ข้อคิดที่ว่าเป็นการรับเรื่องร้องโดยไม่ผ่านอัยการนั้น ศาลไม่มีข้อผิดพลาดดังกล่าวแต่อย่างใด? ส่วนกรณีข้อหาล้มล้างการปกครองนั้นศาลให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องไม่มีมูล หลักฐานและความผิดสำเร็จยังไม่ได้เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ เพียงแต่ผู้ร้องทั้ง 5 ราย มีความวิตกกังวลไว้ก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์ล้มล้างการปกครองขึ้นมาได้ จึงร้องต่อศาลให้วินิจฉัยกรณีของมาตรา 68!

ข้อสังเกตก็คือ กรณีนี้ไม่มีการล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด? แต่ที่เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาถึงขั้นฟ้องร้องจนอาจนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยได้ตามเหตุผลที่แถลงของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุขึ้นมา จึงได้มีการดำเนินการฟ้องร้อง ข้อนี้อาจจะพูดอีกอย่างได้ว่าเป็นเรื่องของความกลัวและความตกใจในการคิดกังวลไปล่วงหน้า พูดอย่างนี้ก็คงไม่ผิด

ดังนั้น ถ้ามองจากเหตุผลตรงนี้แล้ว ในความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถ้าเราถอดบทเรียนออกมาแล้วหันมามองภาพในประเทศไทย มิใช่เฉพาะกรณีศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ฝ่ายหนึ่งที่ก่อปฏิกิริยาขึ้นมาที่อาจสร้างเป็นความขัดแย้งรุนแรงก็เพราะความเกรงกลัวว่าตัวเองจะไม่มีที่หยัดยืนในสังคมต่อไปด้วยว่าปรับตัวไม่ได้ในการเปลี่ยนแปลงต่างๆของเศรษฐกิจการเมืองและสังคมรอบๆด้าน เมื่อปรับตัวไม่ได้จึงไม่ยอมรับระบบการเมืองที่เป็นมาตรฐาน จึงวิตกกังวลไปล่วงหน้าว่าฝ่ายตัวเองจะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้และเป็นส่วนน้อยในสังคม ดังนั้น ปฏิกิริยาแปลกที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจึงมีสาเหตุมาจากความกลัวและความตกใจนั่นเอง

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญแล้วคงไม่แตกต่างกัน คงกลัวและตกใจเช่นกันว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะถูกแก้ไขให้หายบทบาทไปจากรัฐธรรมนูญ เมื่อกลัวว่าจะไม่มีที่หยัดยืนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับ จึงดิ้นรนออกมากลายเป็นการแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติอย่างที่เราทราบกันดี ความตกใจและความกลัวว่าจะไม่มีที่หยัดยืนในสังคมจึงเป็นหัวข้อที่อันตรายมาก เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่น่าจะนำไปสู่การศึกษาและการปรองดองต่อไปในอนาคต แม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญเองเราอาจจะต้องคิดค้นแก้ไขใหม่ว่าให้พวกเขามีที่หยัดยืนต่อไปอย่างไรหรือไม่? รวมทั้งองค์กรอิสระและองค์กรต่างๆก็ต้องถูกทบทวนในเรื่องนี้ และการทบทวนนั้นอาจจะบอกว่าบางองค์กรและบางอำนาจหากปล่อยให้มีที่หยัดยืนในสังคมผิดๆก็จะสามารถก่อปัญหาให้อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญแสดงบทบาทออกมา

นักประนีประนอมทั้งหลายถ้าคิดจะสานงานปรองดองในประเทศนี้ต่อไป พึงต้องเข้าใจว่าความโกรธแค้นทางการเมืองนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวมากนัก หากแต่ความกลัวและความตกใจต่างหากคือปัญหาใหญ่มากกว่า พูดง่ายๆก็คือ การดิ้นหนีตายนั้นก็สามารถก่อปัญหาได้อย่างเหนือความคาดหมาย เหมือนอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์และศาลรัฐธรรมนูญดิ้นรนเช่นเดียวกัน เรื่องราวทั้งเรื่องเป็นเช่นนี้เอง

และสภาวการณ์นี้สามารถบอกเราได้ว่าฝ่ายอำมาตยาธิปไตยหรือชนชั้นสูงทั้งหลายกำลังกลัวและวิตกกังวลอย่างยิ่งว่าพวกเขาจะไม่มีที่หยัดยืนต่อไปในสังคม เมื่อกลัวเช่นนี้จึงพยายามดิ้นรนในการสร้างจินตนาการ ก่อบทบาทแปลกๆออกมาให้เราได้เห็น จนสุดท้ายอาจลงเอยกลายเป็นความขัดแย้งและรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ เรื่องราวจึงเกิดเป็นเช่นนี้เอง นี่เป็นมุมมองที่น่าสรุปและน่าเฝ้ามองไว้ให้มาก!



www.dailyworldtoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม