วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อีไอเอ ประกันชีวิตที่ชาวบ้านสิ้นหวัง

อีไอเอ : หลักประกันชีวิตที่สิ้นหวังของชาวบ้านหนองแซงอชิชญา อ๊อตวงษ์โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เป็นเวลายาวนานกว่า 24 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยได้บรรจุระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ไว้ในกฎหมาย [1] อย่างเป็นทางการ ด้วยหลักการที่มีต้นแบบมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ว่า เมื่อจะเริ่มดำเนินโครงการหรือกิจการใดที่อาจกระทบต่อภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตแล้ว จะต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรการป้องกันด้วยหลักทางวิชาการเป็นตัวตั้ง โดยเชื่อว่าหลักการนี้จะสามารถปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด แต่แล้วเมื่อหลักการที่สวยหรูจากต่างประเทศเข้ามาเจอกับระบบในประเทศไทย กรณีโรงไฟฟ้าหนองแซง จังหวัดสระบุรี จะเป็นอีกหนึ่งกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความเป็นจริง” ได้ชัดเจนที่สุด สร้างโรงไฟฟ้ากลางทุ่งนา อำเภอหนองแซง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดสระบุรี ด้วยความที่แต่ก่อนเคยเป็น หนองน้ำมีน้ำขังตลอดทั้งปีและได้ตื้นเขินกลายสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษกว่า 200 ปี โดยมีแหล่งน้ำขนาดเล็กตามธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงพื้นที่กสิกรรม จึงทำให้ร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี ได้กำหนดให้พื้นที่อำเภอหนองแซงเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งเตรียมจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเร็ววัน จนการเข้ามาของ บริษัท กัลป์เจพี เอ็น เอส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานเชื้อสายญี่ปุ่น ได้เริ่มเข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ตำบลหนองกบ ตั้งแต่ปี 2540 โดยชาวบ้านไม่ทราบข้อมูลมาก่อน จนกระทั่งในปี 2551 ชาวบ้านเริ่มรู้ตัวว่ากำลังจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,650 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ในพื้นที่ของตน จึงได้ต่อสู้คัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างหนักตั้งแต่บัดนั้น แรงสั่นสะเทือนจากผู้มาเยือน การก้าวเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมต้องมีกรอบกติกาในการดำเนินโครงการ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชน ดังนั้น ตามรายงาน EIA ของบริษัทฯ ที่ได้รับการประทับตราจากหน่วยงานรัฐแล้วนั้น ได้ระบุถึงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ได้วางหลักให้หน่วยงานรัฐนำมาตรการดังกล่าวไปกำหนดเป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต บริษัทฯ ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจึงต้องปฏิบัติตามมาตรการนั้นอย่างเคร่งครัด แต่แค่เริ่มก่อสร้าง ชุมชนกลับพบว่า บริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA หลายประการ อาทิเช่น เพื่อลดผลกระทบทางด้านเสียงจากการก่อสร้าง มาตรการในรายงาน EIA ได้ระบุให้ติดตั้งแผ่นเหล็ก หรือแผงสังกะสี ที่มีความหนาอย่างน้อย 1.3 มิลลิเมตร กั้นรอบพื้นที่ก่อสร้าง แต่ชาวบ้านพบว่า บริษัทฯ ติดตั้งแผ่นสังกะสีที่มีความหนาน้อยกว่าที่กำหนดและไม่ได้ติดตั้งตลอดทั้งแนว จึงได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐให้เข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งการตอกเสาเข็มทั้งวันทั้งคืนในพื้นที่ 1 ปี กับการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐ เมื่อไม่สามารถหยุดยั้งโรงไฟฟ้าได้ ประกอบกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรการที่ระบุใน EIA ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชุมชนเป็นอย่างมาก ขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านจึงต้องปรับเปลี่ยนมาสู่การตรวจสอบการดำเนินโครงการของบริษัทฯ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่ระบุในรายงาน EIA และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นหนทางที่จะลดทอนผลกระทบที่พวกเขากำลังประสบอยู่ได้ ตลอดมาของการตรวจสอบ ชาวบ้านกลับพบปัญหามากมายจากการใช้สิทธิ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามรายงาน EIA แล้ว แม้ชาวบ้านจะมีหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่แต่ละหน่วยงานก็ต่างตอบหนังสือล่าช้า และหากตอบมาก็พยายามชี้แจงว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 50 วรรค 2 ได้วางหลักไว้ว่า เมื่อรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตนำมาตรการในรายงาน EIA ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ดังนี้ เมื่อ กกพ.เป็นหน่วยงานที่อนุมัติทั้งใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้า และใบอนุญาตนั้นก็ระบุให้บริษัทฯ ต้องปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA แล้ว กกพ.จึงมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและตรวจสอบให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามมาตรการ และหากพบว่าบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามจริง กกพ.ก็มีอำนาจในการลงโทษตั้งแต่ตักเตือนไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาตได้ แต่เมื่อชาวบ้านได้มีหนังสือร้องเรียนเรื่องการไม่ปฏิบัติตามรายงาน EIA ไปยัง กกพ.ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ไม่นาน แทนที่ กกพ.จะเร่งเข้ามาตรวจสอบ แต่ผ่านไปเกือบ 3 เดือน กกพ.กลับส่งหนังสือแจ้งอำนาจหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น เรื่อง คุณภาพสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ เป็นหน้าที่ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด, กรมควบคุมมลพิษ, อบต./ผู้ว่าฯ, กรมโรงงาน, สผ. เรื่องยานพาหนะและการขนส่ง เป็นหน้าที่ของ อบต./ผู้ว่าฯ, ตำรวจ เป็นต้น โดยไม่ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของตนเองแต่อย่างใด นอกจากนี้ บริษัทฯ ต้องส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ทุก 6 เดือน ต่อ สผ., กกพ. ในฐานะหน่วยงานอนุมัติอนุญาต และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสระบุรี อันเป็นมาตรการในการตรวจสอบการปฏิบัติตามรายงาน EIA ของบริษัทฯ ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 6/2548 แต่เมื่อชาวบ้านได้ยื่นหนังสือไปยัง สผ.เพื่อขอรายงานดังกล่าว สผ.กลับมีหนังสือตอบกลับว่าไม่มีรายงาน ทั้งที่ตนเองมีหน้าที่ตามกฎหมายในการรับรายงานนั้นก็ตาม และนี้คือปัญหาสำคัญของระบบ อีไอเอ ประเทศไทย ที่เราจะเชื่อมั่นในแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรมได้อย่างไร เมื่อหลักประกันชีวิตถูกผูกขาดไว้กับหน่วยงานราชการที่ไร้ความรับผิดชอบ .

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม