วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผิดที่คนทำไมโทษธรรมชาติ

น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งกับโครงการเมกะโปรเจกท์ของรัฐบาลมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่ง ครม.เพิ่งเปิดให้เอกชนที่สนใจไปขอรับเอกสารข้อกำหนดรายละเอียด (ทีโออาร์) ในการเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยโครงการนี้รัฐบาลเป็นผู้ให้เงินลงทุน ซึ่งเงินก้อนนี้เป็นการให้กระทรวงการคลังกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศเป็นหลัก และมีหลายบริษัทไปขอรับทีโออาร์แล้ว รายละเอียดของโครงการ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แถลงชี้แจงไปแล้วว่า ภายในวงเงินมหาศาลนี้จะทำอะไรได้บ้าง แต่ที่ว่าน่าเป็นห่วงก็คือ บริษัทที่มาขอทีโออาร์ไปศึกษาก่อนที่จะยื่นซองประมูลงานนั้น มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำมากน้อยเพียงใด เพราะจากการเปิดเผยของ นายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล หนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ก็ชัดเจนว่า บรรดาคณะกรรมการทั้งหลายใน กยน.ต่างถูกบริษัทเอกชนทาบทามให้ไปเป็นที่ปรึกษาเพื่อทำโครงการที่รัฐบาลกำลังจะเปิดประมูล ซึ่งนอกจากนายชูเกียรติแล้ว ยังมี นายปราโมทย์ ไม้กลัด และนายสมิทธ ธรรมสโรช ก็ได้รับการทาบทามและเสนอค่าตอบแทนให้ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่น่าตกใจมากกว่าเม็ดเงินมหาศาลเพื่อขุด ก่อ ซ่อม สร้าง ทำลายล้างระบบนิเวศที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพียงเพราะอยากทำลายความกลัวน้ำท่วมใหญ่ที่รัฐบาลพยายามจะปลุกเร้าให้เกิดขึ้นตลอดเวลาและอ้างว่าได้ทำการศึกษามาอย่างกระจ่างถ่องแท้แล้วนั้น ช่างแตกต่างจากการศึกษาของ นายทอม ปีเตอร์สัน นักวิจัยขององค์กรการบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ The National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) เปิดเผยผลวิเคราะห์ผลกระทบทางธรรมชาติอันเกิดจากภาวะโลกร้อนฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ถึงสาเหตุการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของไทย เมื่อปี 2554 ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดความผิดพลาดของการวางนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอันเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ผลงานวิจัยชิ้นนี้น่าจะเป็นคำถามตัวใหญ่ๆ ให้รัฐบาลกลับไปชั่งใจอีกครั้งว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีสิ่งก่อสร้างที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงด้วยเม็ดเงินมหาศาลเหล่านั้นหรือไม่ ในเมื่อมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 นั้น มีแนวโน้มว่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่เพราะว่าธรรมชาติลงโทษ แทนที่จะไปเร่งใช้เงินจำนวนมหาศาล รัฐบาลน่าจะเอาบทเรียนที่ได้รับเร่งปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำเสียใหม่ให้ทันสมัย โดยที่ไม่ต้องไปทำลายสิ่งแวดล้อม ในเมื่อคนคือส่วนที่ผิดพลาดจากเหตุการณ์ครั้งนั้น การไปลงโทษธรรมชาติด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมมันถูกต้องที่ไหนกัน

www.komchadluek.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม