วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บวรศักดิ์ แจงรัฐธรรมนูญไทยต้องพิจารณาใน 3 ประเด็น

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดงานสัมมนาเรื่องรูปแบบและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ภายใต้โครงการศึกษารัฐธรรมนูญที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญของไทยต้องพิจารณาใน 3 ประเด็น คือ วัฒนธรรมการเมืองไทย, การศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และหลักนิติศาสตร์

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญด้วยอำนาจนี้จะอยู่เหนือคณะรัฐมนตรี รัฐสภาและศาล ดังนั้นรัฐสภาไม่สามารถออกกฎหมายที่ขัดต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ ส่วนกรณีกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่เป็นรูปแบบที่ยึดตามประเทศฝรั่งเศส โดยเปลี่ยนแปลงเฉพาะที่มาของคณะตุลาการเท่านั้น

นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะความไม่ชอบมาพากลของนักการเมือง และการป้องกันการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าหากเป็นห่วง 2 เรื่องนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญควรเขียนเพียง 3-4 มาตรา เช่น มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน มาตรา 2 ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัติรย์เป็นประมุข และมาตรา 3 ประเทศไทยปกครองโดยประเพณีการปกครองประชาธิปไตย

นายอุทัยกล่าวว่า หากเกิดความสงสัยให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณา พร้อมนำเรื่องรัฐสภามาบรรจุในรัฐธรรมนูญลักษณะของหมวด หรือออกเป็น พระราชบัญญัติหมวด รัฐสภา หรือหมวดคณะรัฐมนตรี รวมถึงกำหนดให้ชัดเจนว่า การเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญต้องใช้ 2 สภา เพื่อให้แก้ไขยากขึ้น และจะไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องปฏิวัติ นอกจากนี้เห็นว่าควรให้มีการกำหนดเวลาของกฎหมายที่ล้าสมัยให้หมดอายุการบังคับใช้ หากกระทรวงใดไม่ต่ออายุ จะไม่ต่ออายุบังคับใช้กฎหมายนั้น พร้อมเสนอให้เพิ่มจำนวนคณะรัฐมนตรีให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการแย่งชิงตำแหน่ง



www.matichon.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม