วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ปลาปาคู-ปลากัดไข่ กลายเป็นเกมของนักจับปลา

ปลาปาคู หรือปลาจะละเม็ดน้ำจืดในบ้านเรา. “ปลากัดไข่” ได้ยินแล้วคุณ “ผู้ชายแท้” มีเสียว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ทะเลสาบลู เยเกอร์ รัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านนี้เอง หลังจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติประจำรัฐอิลลินอยส์ ศึกษาล้วงลึกถึงรู้แจ้งว่า มันคือปลาปาคู

ปลาปาคู (Pacu) ปลาคู้ หรือที่บ้านเราเรียกว่า “จะละเม็ดน้ำจืด” แหล่งกำเนิดและกระจายพันธุ์อยู่ในลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่แถบอเมซอน ในทวีปอเมริกาใต้ เป็นตระกูลเดียวกับปิรันยา ต่างกันที่ฟันของปาคูจะคล้ายกับฟันมนุษย์ ส่วนปิรันยาจะมีฟันเป็นหยักแหลมคม

ทั้งนี้หลายประเทศนิยมนำมาเลี้ยงอย่างแพร่หลายทั้งใน บราซิล ไต้หวัน จีน มาเลเซีย และไทย กรมประมง มีการนำปลาชนิดดังกล่าวเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงราวปี 2539 แต่ไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคมากนัก เนื่องจากมีก้างค่อนข้างมาก แม้เนื้อจะมีรสชาติอร่อย สามารถปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย

ในช่วงหลังจึงเปลี่ยนบทบาท จากแหล่งอาหารมนุษย์กลายมาเพื่อตกเป็นเกมกีฬา และเลี้ยงสวยงาม เนื่องจากเป็นปลาที่โตได้เร็วมาก กินอาหารได้ไม่เลือกทั้ง ถั่ว ใบไม้ พืชน้ำ ผลไม้ ลูกไม้ ที่ร่วงหล่นลงน้ำและ หอยทาก แต่ถ้าอาหารเหล่านี้มีจำกัด มันก็จะหันมากินปลาชนิดอื่นๆ

ส่วนรูปร่างลักษณะ ปาคู จะใหญ่กว่าปิรันยามาก มีฟันและกรามคล้ายมนุษย์ ลำตัวแบนมีเกล็ดขนาดเล็ก มีครีบไขมันบนส่วนหลังที่บริเวณอก ครีบหู และครีบท้องเป็นสีแดง ลำตัวมีสีเงินปนดำ ลำตัวป้อมสั้นเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หัวป้อมสั้น ครีบหลังและก้นมีความยาวเกือบเท่ากัน ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีความต้านทานต่อโรคสูง เมื่อโตเต็มที่วัดความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 80-110 เซนติเมตร และมีน้ำหนักที่ 40 กิโลกรัม

สำหรับใครที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ไว้ทั้งเพื่อบริโภคหรือเกมกีฬา เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ควรเพิ่มความระวังให้มากขึ้น เพราะหากหลุดออกไปตามธรรมชาติ อนาคตปลาเล็กปลาน้อย หรือแม้แต่ปลาใหญ่อย่าง “ไอ้ดุก” ที่ว่าแน่และโหดยังโดนรุมกัดกินตายมาแล้วเห็นๆ



www.thairath.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม