โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ ภัทรชัย ปรีชาพานิช
“ยาดีเข้าถึงได้ จะดีแค่ไหน ถ้าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงยาดีมีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม นี่คือนโยบายของเรา ปณิธานของเรา และหัวใจของเรา...หัวใจของจีเอสเค” โสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) หรือจีเอสเค เล่าถึงแนวคิดยาดีเข้าถึงได้ แนวคิดที่ต้องการแบ่งปันสุขภาพที่ดีให้กับทุกๆ คนบนโลก
แบ่งปันให้มากขึ้น + สุขภาพที่ดีขึ้น = ความสุขที่มากขึ้น
โสมรสา กล่าวว่า ปีนี้จีเอสเคได้รับการแต่งตั้งจาก The London Organising Committee of the Olypic Games and Paralimpic Games (LOCOG) ให้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ ในการให้บริการตรวจสารกระตุ้นของนักกีฬาในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2012 ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน โดยศูนย์ปฏิบัติการวิจัยของจีเอสเค ณ กรุงลอนดอน
“การได้รับแต่งตั้งในการแข่งขันของมหกรรมกีฬาระดับโลกทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกครั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจและยิ่งทำให้เรามีกำลังใจเดินหน้าพันธกิจด้านสุขภาพ สำหรับจีเอสเคแล้วนโยบายหลัก คือ การสนับสนุนการเข้าถึงยา Share More for Good Health สุขภาพดีมีได้ด้วยการแบ่งปัน” โสมรสา เล่า
ถ้าใครยังไม่รู้ ในปี 2551 และ 2553 จีเอสเคได้รับการจัดอันดับสูงสุดของดัชนีการเข้าถึงยา (The Access to Medicine Index หรือ AMI) ในปี 2554 ได้รับรางวัล TCC Best Award จากโครงการประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณดีเด่นของหอการค้าไทย รวมทั้ง CSR Excellence Recognition Award จากหอการค้าอเมริกา 2 ปีซ้อน (ปี 2553 และ 2554)
“เราเป็นผู้ผลิตยารายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้” โสมรสา เล่า
สำหรับดัชนีการเข้าถึงยา AMI เป็นการสำรวจของมูลนิธิเพื่อการเข้าถึงยา (Access to Medicine Foundation) องค์กรระหว่างประเทศไม่แสวงหากำไรที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยจีเอสเคเป็นบริษัทที่มีความพยายามในการผลิตและจัดหายาให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากที่สุดในโลก ได้รับการจัดอันดับสูงสุดของเกณฑ์วัด 6 หมวด จาก 7 หมวดหลัก และเป็นบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ยานวัตกรรมการวิจัยมากที่สุดของดัชนีที่ครอบคลุม 33 โรคสำคัญ รวมโรคในเขตร้อนที่ถูกละเลย โรคติดต่อและไม่ติดต่อ ที่เป็นภาระด้านสุขภาพของประเทศยากจน
เบื้องหลังความภูมิใจ คือ โครงการเพื่อสังคมอีกมากมายของแกล็กโซสมิทไคล์น อันดับแรก คือ โครงการจีเอสเค พยาบาลเพื่อชุมชน โดยให้ทุนนักศึกษาพยาบาล เพื่อกลับไปทำงานที่บ้านเกิด ก่อตั้งในปี 2540 จนถึงปัจจุบันผลิตพยาบาลทั่วประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 500 คน นอกจากนี้ คือ โครงการจีเอสเค ธนาคารยาเพื่อประชาชน ซึ่งร่วมกับสภากาชาดไทย เพื่อการเข้าถึงยาและสุขภาพที่ดีของคนไทยทั่วประเทศ
สำหรับโครงการเพื่อสังคมด้านสุขภาพอื่นๆ โสมรสา กล่าวว่า ยังมีโครงการอาสาสมัครจีเอสเค (Pulse Programme) เปิดโอกาสให้พนักงาน ได้ร่วมงานกับองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร (NGO) นำทักษะความรู้ความสามารถ ไปรับใช้สังคม โดยทุกปีสำนักงานใหญ่จะคัดเลือกพนักงาน เพื่อทำงานอาสาสมัคร (มิ.ย.ธ.ค.) กับเอ็นจีโอที่เหมาะสม ในระหว่างนี้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้หมด
“นี่เป็นโครงการที่จีเอสเคภูมิใจมาก ในระหว่างที่พนักงานไปทำงานเอ็นจีโอ เราจ่ายเงินเดือนให้เขาเต็ม เหมือนจ่ายเงินให้ไปทำงานให้คนอื่น แต่เราถือว่าเราสนับสนุนคนของเรา ให้เรียนรู้และซึมซับความเป็นจิตอาสา ซึ่งเราคิดว่ามีคุณค่า สำหรับประเทศไทยดำเนินต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยปีนี้มี 2 คน หนึ่งในนั้นจะเดินทางไปทำงานกับเอ็นจีโอระดับโลก Save The Children ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา” โสมรสา กล่าว
นอกจากนี้ คือ โครงการกิจกรรมวันสีส้ม (Orange Day) วันที่ชาวจีเอสเคทั่วโลกร่วมกันทำกิจกรรมอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ทุกกิจกรรมมาจากความต้องการของเหล่าพนักงานเอง ซึ่งก็ไม่แปลกใจเลยสำหรับวันสีส้มในปีนี้ (12 ก.ค.) ที่ช่วงเช้าเป็นการให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเรื่องสารกระตุ้น ส่วนช่วงบ่ายเป็นไฮไลต์แข่งตีแบดมินตันและปิงปองกระชับมิตร (ฮา) ระหว่างจีเอสเคกับพี่ๆ น้องๆ นักกีฬาพาราลิมปิกทุกคน
“เป็นบ่ายที่มีความสุขของชาวจีเอสเคค่ะ เราจัดการแข่งขันที่มันส์มากๆ ระหว่างพนักงานกับพี่น้องนักกีฬา ถือเป็นกำลังใจที่มอบให้ผู้เข้าแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงลอนดอน ปีนี้ทุกคน” โสมรสา เล่าพร้อมรอยยิ้ม
ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ค้นคว้าวิจัยและผลิตเวชภัณฑ์ยา รวมทั้งวัคซีนระดับโลก จีเอสเคจะดำเนินโครงการเพื่อสังคมด้านสุขภาพต่อไปพร้อมๆ กับพี่สาวจีเอสเคคนนี้ อดีตสื่อมวลชนรุ่นเก๋า อดีต บก.ข่าวต่างประเทศ ศูนย์ข่าวฮอตไลน์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ผู้กำลังทำหน้าที่ในการสื่อสารองค์กรบริษัทยาระดับชาติ เธอทิ้งท้ายว่า สุดท้ายแล้ว คือ ความซื่อตรงในการนำเสนอและจริยธรรมที่ต้องคู่กัน
คนต้นแบบผู้แบ่งปันความสุข
1.ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
แรงบันดาลใจในการทำงานด้านสื่อสาร ดร.สมเกียรติ เป็นต้นแบบที่ทำให้อยากทำงานสื่อสารมวลชน จุดเริ่มต้นของความสนใจงานข่าว อาจารย์เป็นผู้สร้างมิติใหม่ในวงการข่าวของบ้านเรา จนปัจจุบันก็ยังชื่นชมในจุดยืนของการเป็นนักสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพ
2.นักกีฬาพาราลิมปิก
นี่คือตัวอย่างที่ดีของสังคม “Impossible is Nothing” ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เป็นไปได้ สำเร็จได้ ด้วยความมุ่งมั่นและความตั้งใจ นักกีฬาพาราลิมปิกทุกคนน่าชื่นชมในความบากบั่น ไม่ย่อท้อ เหนืออุปสรรคของร่างกาย คือ จิตใจ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จ
3.อองซานซูจี
ยกย่อง อองซานซูจี ในฐานะ “ดอกไม้เหล็ก” ผู้มีความยึดมั่นในอุดมการณ์ ต่อสู้เพื่อผู้อื่น และนับถือในความอดทนเพื่อรอเวลาอย่างสันติ
4.สตีฟ จ็อบส์
ถ้าเป็นเรื่องของกระแสทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เขาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก หรือเมื่อมองผ่านเรื่องราวชีวิตและแนวคิดในการทำงาน ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร รวมทั้งต้องประหลาดใจ ทึ่งในความละเอียดอ่อน ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ทำให้การดำเนินธุรกิจประสบผลสำเร็จ
5.รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ (หมอ 5 บาท)
ผู้ที่เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสุขภาพที่ดีให้กับคนในสังคม เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อผู้ป่วยอย่างแท้จริง โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย รักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคภัย โดยมองเห็นค่ารักษาเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องที่ใหญ่กว่า คือ การทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี
www.posttoday.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น