วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อนาคตตลาดข้าวไทย ทิศทางการส่งออก

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีปริมาณการผลิตข้าวสูงสุดเป็นอันดับ 1 และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก จากการสำรวจข้อมูลพบว่าข้าวที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นของสมาชิกสหกรณ์ และสหกรณ์เป็นผู้รวบรวมข้าวจากสมาชิกส่งขายให้กับบริษัทส่งออกส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า จากความแข็งแกร่งด้านการผลิตและการตลาดข้าวของกระบวนการสหกรณ์ไทย และการเป็นผู้นำการส่งออกและการผลิตของประเทศไทย ทำให้ปีนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการศูนย์อาเซียนเพื่อการพัฒนาสหกรณ์การเกษตร (ACEDAC) ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 24-29 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนสหกรณ์จากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และตัวแทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม เพื่อหารือและกำหนดกรอบความร่วมมือ รวมถึงผลักดันกิจกรรมต่างๆ ที่จะมีผลต่อการพัฒนางานสหกรณ์ในภูมิภาคอาเซียนให้เดินหน้าต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ในการพบปะของตัวแทนสหกรณ์จากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Establishment of Pilot Project on Marketing Networking of Rice in ASEAN” เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างตลาดข้าวของสหกรณ์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้แทนสหกรณ์ไทยได้นำเสนอเพื่อเร่งผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อให้ทันก่อนการก้าวสู่เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 3 ปีข้างหน้านั่นเอง

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า การเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวกับประเทศต่างๆ ของอาเซียน จะนำไปสู่การรวมกลุ่มตลาดข้าวภูมิภาคประเทศอาเซียน หรือ International Market ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสหกรณ์ในภูมิภาคนี้ โดยใช้สินค้าข้าวเป็นตัวนำไปสู่ความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่จะตามมา และนำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหกรณ์ในระดับภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากการหารือถึงนโยบายการค้าข้าวของกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Member Countries’ Rice Trade Policies) ผู้แทนสหกรณ์จากประเทศต่างๆ ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการค้าข้าวของประเทศตนเอง ได้ข้อสรุปว่าข้าวเป็นพืชอาหารหลักของประชากรในอาเซียน และเกือบทุกประเทศในอาเซียนปลูกข้าว ยกเว้นเพียงสิงคโปร์ โดยมีประเทศผู้ส่งออกข้าวเป็นสินค้าหลัก ได้แก่ กัมพูชา พม่า ไทย และเวียดนาม ส่วนประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนมีเป้าหมายที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในภูมิภาค ปัจจุบันอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีปริมาณผลผลิตพืชอาหารประเภทข้าวและน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในภูมิภาค

ด้านนายชูเกียรติ ปันตา ผู้จัดการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดลำพูน จำกัด กล่าวว่า การเชื่อมโยงตลาดข้าวสหกรณ์กับต่างประเทศเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่ผ่านมาชุมนุมสหกรณ์จังหวัดลำพูนได้มีการเชื่อมโยงตลาดข้าวสหกรณ์กับผู้นำเข้าข้าวกับประเทศสิงคโปร์ ตามโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าและการค้าที่เป็นธรรม และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างชุมนุมสหกรณ์จังหวัดลำพูน จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดสุขขะเฮาส์ ประเทศสิงคโปร์ กับสถาบันบริการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเกิดจากความต้องการข้าวอินทรีย์คุณภาพดี เพื่อขายให้แก่ผู้บริโภคในสิงคโปร์ เป็นการตอบแทนต่อสังคม และความต้องการช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น ซึ่งโครงการนี้ทั้ง 3 ฝ่ายมีความรับผิดชอบที่แตกต่างกันออกไป โดยลักษณะพิเศษของข้าวสารชุมนุมฯ คือไม่มีการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต เป็นข้าวกล้องแต่มีการขัดถลอก 5% เพื่อให้ข้าวมีความอ่อนนุ่มแต่ยังคงรักษาคุณค่าทางอาหารไว้ ข้าวอินทรีย์ที่ชุมนุมฯ ผลิตมีอยู่ 2-3 ชนิด แต่ที่ผลิตมากที่สุดคือ ข้าวหอมมะลิแดง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีความอ่อนนุ่ม ซึ่งแตกต่างจากข้าวแดงทั่วไป

“เราจะให้ความใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ ทำให้ข้าวของชุมนุมฯ ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีในตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากระบบการปลูกข้าวที่ได้มาตรฐาน มีกระบวนการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันในการทำธุรกิจกับทางสิงคโปร์ ชุมนุมฯ ทำการค้าด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบลูกค้า ผลิตและจำหน่ายสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ และมีการวิจัยและพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งด้านบุคลากร ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และการตลาด ประโยชน์จากการดำเนินโครงการดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดประมาณ 5-8 บาท/กิโลกรัม และมีความเสี่ยงลดลงจากการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” นายชูเกียรติ กล่าว

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจตลาดข้าวสารสหกรณ์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสหกรณ์อื่นๆ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดข้าวกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้ ซึ่งในอนาคตกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังมีแนวคิดที่จะให้มีการสร้างเครือข่ายสินค้าเกษตรที่สำคัญๆ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชไร่ พืชผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง โคนม ฯลฯ ในตลาดอาเซียนอีกด้วย โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันผ่านเว็บไซต์ของ ACEDAC รวมทั้งตัวแทนสมาชิกยังได้เสนอให้มีการจัดงานแสดงสินค้าสหกรณ์อาเซียน ในงานวันสหกรณ์แห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประเทศไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดเป็นครั้งแรก ในเร็วๆ นี้อีกด้วย รวมทั้งได้เสนอให้มีการส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างสหกรณ์ โดยการจัดตั้งกลุ่มหรือสโมสร หรือสมาคมของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและการเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างกลุ่มผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ซื้อสินค้าแต่ละชนิด (ASEAN Commodity Club) เช่น ASEAN Rice Club เป็นต้น หรือการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์ในลักษณะ ASEAN Sister Cooperative หรือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสหกรณ์ ซึ่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในร่างแผนการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรในอาเซียนที่ฟิลิปปินส์จะเป็นผู้จัดทำ เพื่อนำเสนอเป็นแนวทางในการจัดตั้ง ACBN (Agricultural Cooperative Business Networking) ซึ่งจะมีขึ้นในอนาคตต่อไป



www.banmuang.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม