วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จีเอ็ม เปิดตัวผลิตเสื้อสูบสำหรับขุมพลังดูราแม็กซ์ ย้ำเป็นผู้นำการผลิตเครื่องยนต์ที่ล้ำสมัยที่สุด

จีเอ็ม เพาเวอร์เทรน ศูนย์การผลิตเครื่องยนต์ดีเซลมูลค่า 6,000 ล้านบาทในจังหวัดระยอง เปิดตัวสายการผลิตเสื้อสูบสำหรับขุมพลังดูราแม็กซ์ ดีเซลเทอร์โบ 4 สูบ หัวใจขับเคลื่อนของเชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์และโคโลราโดที่จำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกทั่วโลก เป็นการตอกย้ำอีกหนึ่งก้าวสำคัญของจีเอ็ม ในการยกระดับความเป็นผู้นำการผลิตเครื่องยนต์ที่ล้ำสมัยที่สุดในเวลานี้

มร. เดวิด คลาร์คสัน รองประธานเพาเวอร์เทรน เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า โครงการเปิดสายการผลิตเสื้อสูบในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงก่อนหน้าแผนการที่วางไว้ถึงหนึ่งปี หลังจากก่อนหน้านี้ได้กำหนดกรอบเวลาเปิดการผลิตในเดือนมิถุนายน 2556

“เรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่พนักงานของเราได้ร่วมกันทำงานให้สามารถเปิดสายการผลิตเสื้อสูบใหม่นี้ได้ก่อนเวลาที่กำหนด” มร.คลาร์คสัน กล่าว “ด้วยเทคโนโลยีการผลิตชั้นนำ และกระบวนการอันล้ำสมัยจะช่วยให้จีเอ็ม สามารถสร้างขุมพลังเครื่องยนต์ดูราแม็กซ์ดีเซลอันเปี่ยมสมรรถนะ ประหยัด และสะอาดให้แก่ลูกค้าเชฟโรเลต ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการเพิ่มกำลังการผลิตและสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีเอ็ม ที่จะขยายขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

สายการผลิตใหม่นี้จะผลิตเสื้อสูบสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ดูราแม็กซ์ ขนาด 2.5 ลิตร และ 2.8 ลิตรที่ใช้กับระบบเกียร์ธรรมดา และขนาด 2.8 ลิตรสำหรับเกียร์อัตโนมัติ สำหรับเชฟโรเลตรุ่นเทรลเบลเซอร์ และโคโลราโด เพียบพร้อมด้วยการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด และมีการใช้ชิ้นส่วนการผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

สายการผลิตเสื้อสูบใหม่ตั้งอยู่ในศูนย์การผลิตจีเอ็ม เพาเวอร์เทรน จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ 27 ไร่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกับศูนย์การผลิตรถยนต์จีเอ็ม ประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทุ่มเงินลงทุนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การเติบโตสู่ความสำเร็จในภูมิภาคนี้ และเป็นศูนย์ฯ แห่งแรกในโลกที่ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล ดูราแม็กซ์ 4 สูบ

หลังจากเดินเครื่องสายการผลิตเสื้อสูบใหม่แล้ว จีเอ็ม เพาเวอร์เทรนจะมีศักยภาพผลิตเสื้อสูบสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล ดูราแม็กซ์ถึง 440 เครื่องต่อวัน (สามรอบการทำงาน ตลอด 24 ชั่วโมง) โดยสายการผลิตเสื้อสูบใหม่นี้ ประกอบด้วย เครื่องจักรที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ 18 ตัว เครื่องจักรเพื่องานพิเศษ 3 ตัว เครื่องประกอบ 2 ตัว หุ่นยนต์ทำความสะอาดเครื่องยนต์ 2 ตัว และเครื่องทดสอบการรั่วซึมอีก 1 ตัว ซึ่งทุกเครื่องจักรผ่านการทดสอบและกระบวนการประเมินระหว่างการทดลองการผลิตอย่างเข้มข้นมาแล้ว โดยการขยายสายการผลิตครั้งนี้ จีเอ็ม ใช้งบประมาณไปราว 1,080 ล้านบาท (36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

นอกจากเปิดสายการผลิตใหม่แล้ว จีเอ็ม เพาเวอร์เทรนยังมีการว่าจ้างพนักงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญสูงเพิ่มเติมอีกด้วย โดยพนักงานทุกคนผ่านการฝึกฝนการทำงานกับเครื่องจักรที่มีความละเอียดสูง ทั้งนี้จีเอ็ม ประเทศไทยในปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 5,200 คน

ศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ถือเป็นศูนย์ฯที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของจีเอ็ม ในระดับโลก มีการดำเนินงานด้วยระบบปลอดการฝังกลบ และสนับสนุนการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ร่วมกับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง

ในเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา จีเอ็ม ประเทศไทย เป็นบริษัทผลิตรถยนต์แห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 50001 ในเรื่องการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซมลพิษไอเสียจากกระบวนการผลิต และในอีกสามเดือนต่อมา จีเอ็ม เพาเวอร์เทรน ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14001 จากความมุ่งมั่นทุ่มเทในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (EMS) เพื่อมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการผลิต



www.newswit.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม