วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวโครงการ “ASEAN Sense of Citizenship”

สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร ( ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ) สานต่อสถานะความเป็นผู้นำอาเซียนของประเทศไทย เปิดตัวโครงการ “ASEAN Sense of Citizenship” เพื่อวางแนวทาง นโยบาย ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการส่งเสริมความรู้สึกของการเป็น “ประชากรอาเซียน” ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ ภายใต้แนวคิด “ 10 ประเทศ ” ไปสู่ “1 ประชาคม” มุ่งหวังยกระดับศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนาคน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยท่านเอกอัครราชทูต หรือผู้แทนในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ร่วมแสดงความยินดี และให้การสนับสนุนโครงการ ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันก่อน...

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร ได้กล่าวถึงโครงการ “ASEAN Sense of Citizenship” ว่า ”ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ AEC ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากการเป็น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of South East Asian Nations : ASEAN) มีทั้งหมด 10 ประเทศ อันได้แก่ ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และ บรูไน โดยประเทศไทยเองอยู่ในสถานะผู้นำอาเซียนอันเกิดจากการเป็นผู้ริเริ่มก่อเกิดความร่วมมือในภูมิภาค ทั้งยังเป็นประเทศเจ้าภาพ ดังนั้นเพื่อธำรง และสานต่อสถานะความเป็นผู้นำในอาเซียนของประเทศไทย ทางสถาบันทรัพยากรมนุษย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานอันมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการส่งเสริม และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงขอเสนอตัวในการเป็นผู้ดำเนินโครงการสร้าง และส่งเสริมความเป็น “ประชากรอาเซียน” ให้กับประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายหลักที่จะยกระดับศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนาคน พร้อมได้ริเริ่มโครงการ “ASEAN Sense of Citizenship” เพื่อศึกษาสถานะความคิดความเชื่อทัศนคติ และค่านิยมในด้านต่างๆ ในปัจจุบันของประชากร พร้อมทั้งการผลิตสื่อความรู้ออกแบบแนวทาง และเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อการฝึกอบรม ตลอดจนการจัดกิจกรรมในหลาก หลายรูปแบบที่จะช่วยสร้างความตื่นตัว และส่งเสริมความรู้สึกในการเป็นประชากรอาเซียนให้เกิดขึ้น โดยปรับปรุงแนวทาง การดำเนินโครงการ และขยายผลการสร้างความเป็นประชากรอาเซียนไปสู่ความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักในการเผยแพร่สื่อฝึกอบรม และกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ เด็กและเยาวชนไทยตั้งแต่ระดับ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น, ครูและอาจารย์, ข้าราชการไทยในกระทรวงต่างๆ, กลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนไทยที่ทำธุรกิจ/ลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน และบุคคลากรใน 8 กลุ่มวิชาชีพหลัก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีภายใน ประชาคมอาเซียน ตามข้อตกลง Mutual Recognition Arrangements: MRAs ซึ่งได้แก่ วิศวกรรม, การสำรวจ, สถาปัตยกรรม, แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, บัญชี, การบริการ และ การท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การจะมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนตามคำขวัญ “One Vision, One Identity, One Community” “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม” จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จากเพียงการลงนามในเอกสารของเหล่าผู้นำประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศเท่านั้น หากยังมีความแตกต่างกันทั้งทางด้านภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อันนำไปสู่พื้นฐานทางความคิด ความเชื่อ และทัศนคติต่อเรื่องต่างๆ ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ประชากรของเหล่าประเทศสมาชิกนั้นยังอาจขาดความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับประเทศสมาชิกในบริบทต่างๆ อีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์ในการเปลี่ยนผ่านจาก “10 ประเทศ” ไปสู่ “1 ประชาคม” เป็นไปอย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง และส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกร่วมบางอย่างที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้แนวคิดความเป็น “ประชากรอาเซียน” ( ASEAN Sense of Citizenship : ASC )”

รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ทางสถาบันฯ คาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อต่อยอดขยายผลการสร้าง และส่งเสริมความรู้สึกถึงการเป็นประชากรอาเซียนให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ครอบคลุมประชากรของประเทศสมาชิก โดยการนำข้อมูลสถานะปัจจุบันในด้านความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมในด้านต่างๆ ของประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้จากการศึกษาวิจัย สื่อความรู้ หลักสูตรฝึกอบรม และกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ออกแบบไว้ในลักษณะที่เข้าใจง่ายสนุกสนาน และน่าสนใจไปใช้กับกลุ่มเป้าหมาย ประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในบางส่วนให้สอดคล้อง กับสถานะทางความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมในปัจจุบันของประชากรในแต่ละประเทศ นอกจากนี้การร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในประเทศสมาชิกนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยในการขยายผล และส่งเสริมความรู้สึกถึงการเป็นประชากรอาเซียนให้เกิดขึ้นในวงกว้างเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนช่วยในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไปในอนาคต และปลูกฝังความรู้สึกการเป็นประชากรอาเซียนให้อยู่ในจิตสำนึกของประชากรอาเซียนในทุกประเทศสมาชิก เพื่อวางแนวทาง นโยบาย ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการสร้างให้เกิดความรู้สึกของความเป็นประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ และก้าวสู่ความเป็นผู้นำในระดับอาเซียน / เอเชีย ต่อไป”



www.newswit.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม