วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกษตรพันธสัญญา contract farming หลักความมั่นคงเกษตรกร

โดย รัฐพล ศรีเจริญ กิจกรรมการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม เกษตรอุตสาหกรรม หรือเกษตรพาณิชยกรรม ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นกิจกรรมที่แทบจะอาศัยจมูกคนอื่นมาหายใจไม่ได้เลยในทุกขั้นตอน เพราะผลผลิตทางการเกษตรทุกระดับ ล้วนเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง เสียหายง่าย มีกระบวนการตรวจสอบที่ละเอียดอ่อนหลายขั้นตอน เป็นสินค้าที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค เป็นกลุ่มสินค้า “เจ้าปัญหา” ที่ต้องตามแก้กันตลอดทั้งปี เพราะฉะนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในทุกขั้นตอนของการผลิต จึงได้เกิดกิจกรรม “contract farming” ที่มีคนตั้งเป็นศัพท์ใหม่ว่า “เกษตรพันธสัญญา” ขึ้นมา ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนแรกที่ใช้คำนี้ แต่คงจะหมายให้ฟังดูว่าธุรกิจนี้มีความโหดร้าย ซ้อนเร้นการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการอย่างชัดแจ้งทั้งๆ ที่นี่คือกิจกรรมที่ทำร่วมกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจและมั่นคงในอาชีพ เกษตรพันธสัญญานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นวัฒนธรรมการผลิตภาคเกษตรของประเทศไทยมานานนับเป็นร้อยปีแล้ว ย้อนไปดูระบบศักดินาที่มีมาแต่โบราณก็เป็นลักษณะนี้ เจ้าขุนมูลนายที่ได้รับศักดินาเป็นที่ดินหลายร้อยไร่ ไม่มีปัญญาทำได้หมดก็จะให้คนที่ไม่มีที่ดินเข้ามาทำกิน โดยตกลงกันว่าจะแบ่งปันผลผลิตที่ได้ เงื่อนไขจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่จะคุยกัน เป็นการรับประกันว่าคนจนจะมีที่ดินทำกินในขณะที่เจ้าของที่ดินก็มั่นใจว่าจะมีข้าวกินหรือพืชผลอะไรก็แล้วแต่กินตลอดไป พอถึงยุคพ่อค้าเข้ามาแทรก ก็มีการปล่อยเกี๊ยวปุ๋ย น้ำมัน ยาฆ่าแมลง บางรายก็ปล่อยเงินกู้ให้กับเกษตรกร ตกลงกันว่าได้ผลผลิตมา เจ้าของทุนจะต้องได้ปันส่วนก่อน ทำให้เกิดกิจกรรม “ตวงข้าว” ขึ้นมา บางที่ที่ทำสวนก็เรียกว่า “ตกเขียว” แตกต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อยนิดๆ หน่อยๆ ตามแต่จะตกลงกัน แต่สรุปออกมาก็คือ การสร้างความมั่นใจให้กันและกัน ฝ่ายเกษตรกรก็มั่นใจว่าจะได้ทุนมาผลิตสินค้า ในขณะที่ฝ่ายพ่อค้าก็มั่นใจว่าจะมีสินค้าไปขาย การกระทำพวกนี้เข้าข่ายเกษตรพันธสัญญาทั้งนั้น แม้จะผ่านมาเป็นร้อยๆ ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ แถมยังเป็นส่วนหนึ่งที่เหนียวแน่นในวัฒนธรรมการเกษตรของไทย ว่ากันโดยเนื้อแท้แล้ว หลักการของเกษตรพันธสัญญาไม่ใช่ปัญหา ในทางกลับกัน กลับเป็นหลักการที่สร้างหลักประกันที่ดีให้กับภาคการเกษตรของประเทศ แต่ปัญหามันเกิดจากคนที่อยู่ใน 2 ฟากของกิจกรรมนี้ และทุกครั้งที่มีคนเข้าไปเกี่ยว โอกาสที่จะผิดเพี้ยนก็ยังมีอยู่ แม้หลายบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้จะพยายามใช้ “ระบบ” มาจัดการ แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีคนเข้าไปผลักดันระบบ เมื่อเร็วๆ นี้มีนักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ร่วมกันจัดสัมมนาวิชาการเพื่อผลักดันให้เกิดมุมมองเรื่องของเกษตรพันธสัญญา โดยทุกคนต่างลงความเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร มีการเชิญเกษตรกรที่ล้มเหลวจากการทำเกษตรพันธสัญญาทั้งในส่วนของการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชมาให้ข้อมูลเพื่อเป็นกรณีศึกษา แม้เกษตรกรเหล่านั้นจะเล่าเรื่องของตนเองอย่างไร แต่สุดท้ายทุกคนก็สรุปออกมาในแนวทางคล้ายคลึงกันว่า ที่ตนเองต้องล้มเหลวและบางคนต้องหนี้สินก็เพราะเห็นคนอื่นเขารวยจากการทำเกษตรพันธสัญญาแล้วก็อยากจะรวยกับเขาบ้าง อยากรวยโดยไม่ได้ศึกษาเงื่อนไขในสัญญา อยากรวยโดยไม่ได้ศึกษาว่าความสามารถของตนเองเหมาะที่จะทำกิจกรรมนี้หรือไม่ วัฒนธรรมการเกษตรของไทยนั้น ปัญหาใหญ่คือการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ตามกัน เป็นกันมาไม่รู้ว่ากี่สิบกี่ร้อยปีแล้ว เห็นเขาทำอะไรปลูกอะไรขายมีรายได้ดีก็อยากจะทำอย่างเขาบ้าง เมื่อต่างคนต่างอยาก ช่วยกันปลูกช่วยกันผลิตมากๆ ผลผลิตก็ล้นตลาด ส่งผลให้ราคาถูก หรือถึงกับขายไม่ออกต้องเททิ้งประชดก็มีให้เห็นหลายครั้ง แทนที่จะรวยให้สมอยากก็กลายเป็นว่าต้องขาดทุนจนบางรายถึงกับล้มละลายก็มี ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้ก็คือ การปลูกยางพารา จากมุมมองของคนที่ติดตามเรื่องเกษตร-เศรษฐกิจมานานนับสิบปี มองว่าเกษตรพันธสัญญานั้น ถ้าหากเกษตรกรมีความสามารถด้านเกษตรดีพอ ไม่ต้องเก่งกาจถึงขนาดเป็นเกษตรกรตัวอย่าง แต่สามารถพอที่จะทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับระบบที่ระบุอยู่ในสัญญา มีการเอาใจใส่ในกระบวนการผลิตเป็นอย่างดี ก็จะมีโอกาสทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ปลดหนี้ปลดสินได้ไม่ยากนัก ซึ่งก็มีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่สามารถทำได้อย่างที่ว่ามานี้ นี่คือการมองคนในฟากของเกษตรกร ส่วนในฟากของบริษัทคู่สัญญา เท่าที่เก็บตกได้มาจากเวทีสัมมนาวิชาการ ทำให้ได้รู้ว่า ยังมีคนบางคนที่อยู่ในระดับปฏิบัติการ จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนะเสียใหม่ แทนที่จะมองเกษตรกรเป็น “ลูกไล่” คอยไปไล่บี้ไล่จี้ ก็ควรจะมองให้เป็น “คู่ร่วมทุน” ตามนโยบายที่ผู้บริหารระดับสูงวางเอาไว้ อย่าบิดเบือนเจตนาที่ดีของบริษัทไปเป็นข้อต่อรองทางธุรกิจ จนเกษตรกรคู่สัญญามองว่าไม่เป็นธรรม สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากเวทีดังกล่าวก็คือ การที่นายณรงค์ เจียมใจบรรจง ผู้แทนจากบริษัท ซีพีเอฟ เข้าร่วมขึ้นเวทีสัมมนาด้วย และเป็นตัวแทนคนเดียวของภาคเอกชนที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้ง มองเผินๆ เหมือนการเผชิญหน้า เพราะเกษตรกรบางคนที่ผิดหวังกับเกษตรพันธสัญญาในวันนั้น เคยเป็นคู่สัญญากับซีพีเอฟ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น การเข้าร่วมของบริษัทกลับได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีทั้งจากเกษตรกรและนักวิชาการ การเผชิญหน้าจึงเป็นเหมือนการหันหน้าเข้าหารือร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนปัญหาที่ค้างคาใจ ซึ่งฟากบริษัทก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรทุกคน … นี่คือจุดเด่นที่ทำให้บริษัทแห่งนี้ยืนอยู่แถวหน้าของธุรกิจการเกษตรของประเทศ และมีเกษตรกรคู่สัญญาที่ประสบความสำเร็จมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น โดยเนื้อแท้ของเกษตรพันธสัญญาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายไหน ไม่มีใครอยากให้คู่สัญญาของตนต้องประสบความล้มเหลว เพราะคู่สัญญาทุกรายล้วนเป็นหน่วยผลิตของผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร หากเกษตรกรคู่สัญญารายใดไม่สามารถประกอบการได้ต่อไป ก็เท่ากับต้องสูญเสียหน่วยการผลิตซึ่งจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปจนถึงระบบการตลาด หากมองว่า ระบบเกษตรพันธสัญญานั้น โดยเนื้อแท้แล้วก็คือ out source ของผู้ประกอบการเกษตรพาณิชยกรรม หรือเกษตรอุตสาหกรรม เป็นแหล่งผลิตนอกองค์กรที่มีเกษตรกรเป็นผู้ลงทุนส่วนใหญ่ จะทำให้เข้าใจดีขึ้นว่าทำไมผู้ประกอบการจึงไม่ต้องการให้คู่สัญญาของตนต้องล้มเหลว บริษัทที่มีคำสั่งซื้อมากมายจากทั่วโลกยิ่งไม่อยากสูญเสียคู่สัญญา อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วยังมองว่า เกษตรพันธสัญญานั้น เป็นกิจกรรมที่จำเป็นจะต้องมีในกระบวนการผลิตของประเทศ โดยเฉพาะในเจตนาที่จะให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนโลก เป็นกิจกรรมที่สามารถจะยกระดับฐานะของเกษตรกรที่ขยันขันแข็งให้สูงขึ้นได้ คำแนะที่จะมีให้กับเกษตรกรที่ร่วมอยู่ในเกษตรพันธสัญญาหรือที่จะเข้าร่วมในอนาคตก็คือ ศึกษากิจกรรมที่จะเข้าร่วมให้ละเอียดเสียก่อนว่ามีอนาคตมากน้อยแค่ไหน แล้วก็มาศึกษาตัวเองว่า มีใจรัก มีความสามารถเพียงพอที่จะทำกับเขาหรือเปล่า แล้วไปศึกษาเงื่อนไขในสัญญา ดูซิว่า เราจะทำได้อย่างที่เขาต้องการหรือไม่ อย่าลืมว่ากิจกรรมการเกษตรเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทุกขั้นตอน และการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยงอยู่ในตัวของมันเอง จึงไม่ควรกระทำการใดๆ ด้วยความประมาท ถ้าหากทำได้อย่างที่ว่ามานี้ เกษตรพันธสัญญานี่แหละที่จะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน.

www.thaipost.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม