แนวทางที่เป็นรูปธรรม แนวทางสร้างความปรองดองที่แท้จริงทำอย่างไร ศ.นพ.รณชัยบอกว่า คอป.เสนอไปแล้วตามรายงานถึงรัฐบาลทุก 6 เดือน ถ้ารัฐบาลรับไปทำตามทุกข้อก็จะเกิดผลดีระดับหนึ่งกับสังคม เช่น เรื่องเยียวยาหรือข้อเสนอให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ถูกคุมขัง ก็มีการใช้เงินจากกองทุนยุติธรรม แต่บางข้อก็ไม่ได้นำไปทำ ข้อสรุปฉบับสุดท้ายของ คอป.ครบรอบ 2 ปี ทางอนุกรรมการทุกคณะกำลังประชุมกันอย่างหนักตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อทำรายงานฉบับสุดท้าย “อย่างของผมชุดอนุกรรมการเยียวยาแค่คณะเดียว ก็ไม่ต่ำกว่า 600 หน้า ก็จะมีรายงานสรุปทั้งหมดที่ทำมา 2 ปี ในเรื่องการเยียวยา รวมถึงข้อเสนอแนะ ปัญหา อุปสรรค ในรายงานฉบับสุดท้ายของ คอป.ที่จะสรุปผลการทำงานของ คอป.ในรอบ 2 ปี จะเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ คอป.จะเขียนอย่างระวังและชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ จะมีการบอกถึงข้อเสนอเรื่องแนวทางการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปกติสุขต่อไป” อย่างไรก็ตาม แม้รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป.ยังไม่ออกมา แต่กรรมการ คอป.ผู้นี้ก็ออกตัวไว้ก่อนว่าการทำงานที่ผ่านมา 2 ปี คอป.เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จึงทำให้การทำงานนับแต่วันแรกมีปัญหาพอสมควรในเรื่องการยอมรับในช่วงแรก โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น คนเสื้อแดง แต่ต่อมาปัญหาก็ดีขึ้น “การเกิดขึ้นและการทำงานของ คอป.ขอแยกให้เห็น 3 ประเด็น คือ 1.ตอนตั้ง คอป.สังคมไทยอยู่ในช่วงนั้นกำลังอยู่ในภาวะขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ยังไม่มีข้อสรุปในการแก้ไข คู่ขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ยังอยู่ในสังคมไทย เพราะฉะนั้นกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นในช่วงนั้นจะแตกต่างจากคณะกรรมการที่เป็นลักษณะการค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองของนานาชาติที่อื่นอย่างชัดเจน ของต่างประเทศเวลามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น คณะกรรมการค้นหาความจริงจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อทุกอย่างอยู่ในภาวะปกติ หมายความว่าทุกคนยอมรับผลที่เกิดขึ้น แล้วคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติทำงานอย่างอิสระ ไม่มีข้อระวังสีไหน เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ เกิดเหตุการณ์รุนแรงรัฐบาลก็สามารถจัดตั้งกรรมการลักษณะแบบ คอป.ขึ้นมาได้ ทุกคนยอมรับรัฐบาลและดำเนินกิจกรรมทางด้านของรัฐบาลได้อย่างเป็นปกติ เพราะฉะนั้นกรรมการชุดนี้ในหลายประเทศเขาจึงสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่จะค้นหาความจริงและนำไปสู่การเปิดเผยได้อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะไม่มีข้อขัดแย้งแล้วซึ่งต่างกับของเรา แต่ละประเทศจะเป็นแนวนี้ แต่ของไทยครั้งนี้ เป็นการจัดตั้งในภาวะการขัดแย้ง ซึ่งในขณะนี้ก็ยังขัดแย้งกันไม่จบ ตกลงกันไม่ได้ว่าปรองดองกันแบบไหนจะเห็นถึงความลำบากตั้งแต่ต้น 2. รัฐบาลขณะนั้น (รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ต้องมีคำตอบให้กับสังคมว่าความไม่สงบขณะนั้นมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ว่าจะมีคำตอบให้สังคมอย่างไร ด้วยรัฐบาลเดิมตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาค้นหาความจริง ก็สามารถที่จะโยนโจทย์ให้กับ คอป. ฉะนั้น คอป.ตั้งขึ้นมา รัฐบาลขณะนั้นได้ซึ่งประโยชน์หรือมีหน้าที่ตอบคำถามเหล่านี้แทนรัฐบาล 3. คอป. ทำงานบนความขัดแย้งต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้สังคมมองว่าแต่งตั้งรัฐบาลจะมาทำงานเพื่อช่วยเหลือรัฐบาล ด้วยบุคลิกและอุดมการณ์การทำงานของ อ.คณิต ณ นคร เราทำงานกันเห็นชัดเจนว่าไม่มีการเข้าข้างฝ่ายใด ช่วงแรกบางกลุ่มจะหาว่า คอป.เข้าข้างเสื้อแดง ต่อมาก็ถูกสังคมตราหน้าว่าเข้าข้างรัฐบาลว่าทำไมต้องเยียวยาผู้ที่สร้างความวุ่นวาย” ศ.นพ.รณชัย บอกอีกว่า สองปีที่ผ่านมา เชื่อว่า คอป.ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทำงานอยู่บนแนวกลางชัดเจน เพียงแต่ว่าฝ่ายไหนชอบใจก็บอกว่าเข้าข้างตัวเอง ฝ่ายไหนไม่ชอบใจก็หาว่าอยู่ตรงข้ามประเมินตัวเองให้คอป.สอบผ่าน “สิ่งที่ คอป.ดำเนินการบนความขัดแย้งของสังคมแบบนี้เราทำมาได้ 2 ปี โดยผลสรุปตอนนี้ส่วนตัวรู้สึกว่า คอป.ทำงานสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง คอป.สามารถที่จะอยู่ในฐานะให้ข้อมูลกับสังคมได้เป็นระยะๆ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คอป.ทำให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริงบางอย่าง ไม่ได้มองว่าใครผิดใครถูก ต้องมองในแง่สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรม การมี คอป.ขึ้นมา ทำให้สังคมฉุกคิดว่าเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน” ศ.นพ.รณชัย พยายามอธิบายว่า การลงพื้นที่ในลักษณะรับฟังความเห็นประชาชน ที่ตอนนี้นิยมใช้คำว่า “ประชาเสวนา” ทาง คอป. อาจไม่ได้รับการยอมรับในช่วงแรก โดยยกตัวอย่างการลงพื้นที่ในเขตที่ถูกมองว่าเป็น ”เสื้อแดง” แต่ต่อมา ปัญหานี้ก็หมดไป “ช่วงแรกเราไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ อุดรธานี อุบลราชธานี ลำพูน ลำปาง เพื่อไปรับฟังความขัดข้องใจของประชาชน ปัญหาที่ไม่สบายใจ ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจในหลายด้านหลายมุมมอง ช่วงแรกๆ ก็ดูเหมือนมีอารมณ์แต่พอพูดคุยกันต่อไปก็สามารถทำความเข้าใจกันได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสามารถที่จะลดระดับความขัดแย้งต่าง สังเกตได้ว่าจังหวัดเหล่านี้ระดับความขัดแย้งก็จะน้อยลง อาจารย์คณิต เดินทางไปพบกับผู้นำทางศาสนาเพราะไทยยังเคารพนับถือผู้ใหญ่ทางสังคม โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนา ก็มีการให้ข้อคิดว่าสังคมต้องก้าวข้ามต่อไป ก้าวข้ามความขัดแย้งเพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่ต่างคนต่างยึดทิฐิ” กรรมการ คอป.ผู้นี้ สะท้อนภาพการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐว่าไม่ได้ทำจริงจังและต่อเนื่อง สุดท้ายปัญหาหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองก็ไม่ได้รับการแก้ไขเสียทีจนถึงตอนนี้ “การเยียวยา คอป.ไม่ได้ทำแค่บางส่วนแต่เราทำทุกส่วน เราได้ไปพบจุดที่เกิดกระทบหรือมีการปะทะกันแล้วมีผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยเฉพาะในจุดคลองเตย ดินแดง เราส่งทีมที่ไปพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันทราบเลยว่าประชาชนยังมีความทุกข์และมีปัญหามากมาย หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในระยะแรก คือหน่วยงานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในระยะประมาณ 8 เดือนก็ยุติบทบาทไป คอป.จึงจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือเยียวยาขึ้น หลังจากตั้งศูนย์ขึ้นมาสามารถรวบรวมคนที่ได้รับผลกระทบและปัญหาประมาณ 900 คน รวมทั้งร้านค้าที่ถูกไฟไหม้ ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ก็มาขอความช่วยเหลือ คอป.เป็นตัวกลาง รวมทั้งกระบวนการเยียวยายังส่งทีมเข้าไปพูดคุยกับทหารที่มาร่วมปฏิบัติการในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อรับฟังเรื่องที่เกิดผลกระทบทางจิตใจ ทั้งนี้เราเจอปัญหาว่าผู้เสียหายมีทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ผู้ชุมนุมเท่านั้น” กรรมการ คอป.ผู้นี้ มีข้อเสนอท้ายสุดไปถึงรัฐบาลว่า หลังจากนี้ก่อนจะแยกย้ายกันไป หากฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องรับเสนอของ คอป.ไปพิจารณาจะจัดประชุมหรือพบปะกันของรัฐบาลกับ คอป.เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องการทำงานบ้างก็จะเป็นเรื่องดีไม่ใช่น้อย “เมื่อเราทำงานเสร็จสองปีแล้ว ก็จะเปิดเวทีให้ตัวแทนสังคมต่างๆ มาตั้งคำถามกับ คอป.ถึงการทำงานช่วงสองปีและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะอยู่ในรายงาน ในลักษณะ live talk แล้วเราก็จะตอบคำถามทั้งหมด แลกเปลี่ยนความเห็นกันเลย ใครเห็นอย่างไร สิ่งที่ คอป.ทำก็แค่ให้สังคมรับรู้ เราไม่ใช่ผู้ปฏิบัติต้องให้รัฐบาลรับไปทำ แต่ผมก็อยากเห็นการจัดประชุมสักครั้ง เช่น ประชุม ครม.นัดพิเศษ หรือประชุมนัดพิเศษระหว่าง คอป.กับตัวแทนรัฐบาล มาพบปะพูดคุยกัน“ “เราจะบอกว่าเรื่องต่างๆ เรามีข้อเสนอแบบนี้ รัฐบาลคิดอย่างไร เช่น เรื่องกฎหมายปรองดองที่มีข้อขัดแย้งสูง ถ้าทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร ก่อนหน้านี้เราก็เคยเสนอไปแล้วในเรื่องการเสนอกฎหมายปรองดองถ้ามีโอกาสคุยกันเราก็จะได้เสนอความเห็นต่อรัฐบาลได้ มันน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าที่จะคิดว่า คอป.ก็ทำงานไป สองปีหมดวาระก็หมดไป ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ถ้าเป็นแบบนั้นก็น่าเสียดาย” จบการสนทนา ศ.นพ.รณชัย ทิ้งท้ายว่า ทำงานมาสองปียอมรับเหนื่อย ไปประชุม ไปเดินสายหลายจังหวัดเพื่อพบปะกลุ่มบุคคลต่างๆ แต่ก็ดีใจที่ได้ทำงานในนามคอป. “เรียนตรงๆ หน่วยงานที่ทำงานอยู่ก็ยังไม่เข้าใจว่าผมไปทำอะไร เพราะผมก็ไม่สามารถชี้แจงอะไรได้ เรียนตรงๆ เหนื่อยใจ และเหนื่อยกาย ทำงานตรงนี้ นับเป็นชั่วโมงไม่น้อยเลยแต่สุดท้ายก็ภูมิใจ”
www.thaipost.net
วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
2 ปี การทำงาน คอป. ปิดฉาก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
นายเปรมชัย ใจกว้าง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิคส์ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กสท ได้พัฒนาการบริการรูปแบบใหม่ &quo...
-
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา เปิดเผยในการเสวนาประชาชนสัญจรครั้งที่ 11 "ขุมทรัพย์น้ำมันไท...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น